หากจะบอกว่า “7พรรคฝ่ายค้าน” กำลังอุบไต๋ ไม่ยอมเปิดเผย กางโพย เปิดชื่อ ว่าใครจะมีชื่อในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจกันบ้าง เพราะถึงเวลานี้ กำหนดวันที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติฯ ยังไม่ชัดเจน เช่นเดียวกับ “ตัวบุคคล”ยังไม่ปรากฎว่างานนี้ฝ่ายค้านจะจองกฐิน หัวขบวนคือ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพียงคนเดียว หรือจะซักฟอกกันยกแผง !
เพราะทำไป ทำมาดูเหมือนว่าการประชุมเพื่อเตรียมการกำหนดประเด็นและวางกรอบ ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีความชัดเจน ได้แต่ “ขู่”กันชนิดรายวัน ว่าจะหยิบปัญหาเก่า จากการบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ5ปีที่แล้วมาบวกกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง6เดือนภายหลังจากที่มีรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1”
รวมทั้งล่าสุดเมื่อเกิดปัญหาใหม่ทั้งการแก้ไขสถานการณ์มลพิษด้านฝุ่น ที่มีค่าเกินมาตรฐาน จนมาถึง “วิกฤติ”จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งวันนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวนทั้งสิ้น 14ราย ที่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ โดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา
สิ่งที่กำลังเกิดเป็นปัญหาโถมเข้าใส่รัฐบาล ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในความกังวลไม่ใช่น้อย ยิ่งเมื่อผสมโรงกับปัญหาที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ฯ 2563 กำลังสะดุด ต้องรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้รัฐบาลต้อง
เตรียมการรองรับ เรื่องการใช้เม็ดเงินงบประมาณเพื่อบริหารประเทศ ในระหว่างนี้
แน่นอนว่าการฉวยจังหวะ “ถล่มรัฐบาล” เมื่อยามเกิดวิกฤติใหญ่ ด้านหนึ่งย่อมไม่ควรซ้ำเติม แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่สะท้อนออกมาจากความเคลื่อนไหวของฟาก พรรคร่วมฝ่ายค้านเอง กลับขาดความเข้มแข็ง อีกทั้งยังเต็มไปด้วย “ข่าวลือ” และ “ความไม่ชัดเจน” ว่าในความเป็นจริงแล้ว ในอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ มีเรื่องของ “ล็อบบี้” กันจริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีชื่อบางชื่อของ “บิ๊กเนม” ในรัฐบาล ถูกชำแหละกลางสภาฯ
โดยเฉพาะชื่อของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้แต่ภายในพรรคเพื่อไทยเองเกิดอาการ “เสียงแตก” !
เมื่อฝ่ายหนึ่งประกาศกร้าวว่าถึงอย่างไร ก็ต้องมีชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร เนื่องจากเป็นบุคคลที่สมควรถูกตรวจสอบ อีกทั้งหากได้ลุกขึ้นอภิปรายฯ “พี่ใหญ่” แล้ว โอกาสที่จะขยายแผลลามไปอีก “2 ป.” ทั้ง ป. ประยุทธ์ และ ป. “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ย่อมง่ายดายและเป็นไปได้สูง
ความกังวลของ “หัวหน้ารัฐบาล” ไปจนถึง “รัฐมนตรี” ในครม.ต่อญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจมีน้อยกว่าการลุ้น ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 จะออกหัวหรือก้อย เมื่อภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาทางใดทางหนึ่ง เพราะอย่าลืมว่านี่คือกฎหมายการเงินฉบับแรกของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เหนือประเด็นปัญหาที่ว่าด้วย “เรื่องการเมือง”
ส่วนการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ “ 7พรรคฝ่ายค้าน” ซึ่งจนบัดนี้นอกจากขาดความชัดเจนในการกำหนดวันยื่นญัตติแล้ว ยังไม่รู้ว่า จะมีชื่อ พล.อ.ประวิตร เป็นเป้าหลักตามหรือไม่ และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือการที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะ “เต็มที่”กับการซักฟอกรัฐบาลกันอย่างพร้อมเพรียงทั้ง 7 พรรคจริงหรือไม่ ?