แสงไทย เค้าภูไทย คนไทยเข้าสู่ยุคไซเบอร์เต็มตัวแล้ว เมื่อมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 2 ของโลกและใช้เวลากับเน็ตวันละ7 ชั่วโมง สังคมออนไลน์กำลังขจัดอิทธิพลของสื่อกระดาษออกจากระบบข่าวสาร ขณะที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองได้โอกาสสาด hate speech เข้าหากันจนบรรยากาศปรองดองขุ่น ขณะที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ของโลก มีแผนปฏิบัติงานและยุทธศาสตร์ที่ตั้งกรอบไว้ “Thailand 4.0” เพื่อเชื่อมต่อกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 3 ที่นำโลกเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และการสื่อสารอีเลกโทรนิคส์ วันนี้ระบบสื่อสารของโลกกว่า 180 ประเทศรวมไทย เปลี่ยนจากระบบอะนาล็อกเข้าสู่ระบบดิจิต้อลเต็มตัวแล้วเรามีกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคมชื่อย่อ ดีอี (DE) มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลชื่อย่อดีป้า(DEPA) จะมีการนำดิจิทัลไปใช้ในทุกมิติ ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม ระบบนิเวศน์ ความมั่นคงของประเทศ กรอบเวลาของแผนดำเนินการ 20 ปี เริ่มจาก 20 กรกฎาคม2560 นี้ไปจนถึง 2579 แผนไทยแลนด์ 40 นี้จะเน้นหนักด้านเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าที่การสร้างผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเรียกทางการว่าผู้ประกอบการดิจิทัล เรียกตามตลาดว่า Digital Startup ตั้งเป้า 500,000 ราย ตามแผนนั้น จะสร้างชุมชนดิจิทัล (Digital Communities) ในเชิงตลาดและบุคลากร เน้นวิสาหกิจชุมชนใน 77 เมืองจำนวน 24,700 ชุมชน พัฒนาการด้านสื่อสารดิจิทัลของไทยวันนี้เติบโตเร็วจนตั้งกรอบไม่ทัน ได้แต่ติดตามพฤติกรรมตามกลุ่มวัย มีการแบ่งพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตด้วยกลุ่มวัย( generation) 3 กลุ่มที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต เพื่อการวางแผนในทุกด้านและทุกมิติ คือกลุ่มที่ 1 คนรุ่นเก่าเป็น Gen X คือพวกเลย 40 ไปจนสูงวัย กลุ่มที่ 2 รุ่นกลางอายุ 18 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้ง ไปจนถึงวัยทำงานเป็นGen Y และกลุ่มที่ 3 ยุวชน มัธยมกลาง-ประถม Gen Z กระนั้นก็ยังมีการกระทบกระทั่งปะทะกันระหว่างคนรุ่นเก่าผู้ที่มีบทบาทในการสื่อสารระบบเก่ากับผู้ใช้สื่อระบบใหม่ อย่างกรณีดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่ถึงกับประกาศถอนตัวออกจากสื่อดิจิทัลโดยสิ้นเชิง ยุคหนึ่งดร.สมเกียรติเคยเป็นผู้นำในการเสนอข่าวผ่านสื่อโทรทัศน์ที่ทำเอาสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อกระดาษกระเทือน ไม่ต่างไปจากสื่อดิจิตัลมาแย่งพื้นที่นำเสนอข่าวสื่อกระดาษในยุคนี้ ข่าวที่หนังสือพิมพ์ทำสกู๊ปหรือเจาะข่าวนำเสนอในฉบับเช้าหรือฉบับบ่าย ถูกดร.สมเกียรตินำไปต่อยอด ขยายความตามข่าวต่อเป็นข่าวของตนเองในรายการข่าวภาคค่ำ ทำให้อายุข่าวของหนังสือพิมพ์ที่รายวันสั้นลง เหลือแค่เช้าจรดค่ำ แทนที่จะยืนยาว 24 ชั่วโมงแต่วันนี้ ข่าวเจาะ ข่าวเร็ว ข่าวด่วน ข่าวสด ถูกสื่อดิจิทัลฉกฉวยไปนำเสนอแล้วสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ กำลังหมดยุคและหมดอิทธิพลสื่อดิจิทัลกลายเป็นสื่อปฐมภูมิ สื่อรุ่นเก่าทั้งสื่อกระดาษและสื่อทีวี วิทยุกลายเป็นสื่อทุติยภูมิคอยเก็บข่าวจากสื่อดิจิทัลมาต่อยอด ขยายความ นำเสนอในอีกด้าน คือความขัดแย้งทางการเมือง มีการใช้สื่อดิจิทัลในโจมตี ใส่ร้าย ส่อเสียด ยั่วยุ ยุยง ปลุกปั่น ด่าทอ ใช้ hate speech และถ้อยที่รุนแรงสร้างความเกลียดชัง แสดงอารมณ์ป่าเถื่อน ผรุสวาท หยาบคาย ด่าพ่อล่อแม่ ข้อความวิจารณ์ท้ายข่าว(comment) ทั้งข่าวจากสื่อกระดาษที่ต้องเปิดเว็บของตนคู่ขนานและในข่าวที่โพสต์กันเองรวมถึงสำนักข่าวของคู่ขัดแย้งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง เข้าไปสะสมในสมองส่วนความจำจนเกิดความเครียด อาชญากรรมและอุบัติเหตุ อุบัติการณ์อันเกิดจากอารมณ์เครียดเกิดขึ้นและนำไปสู่อาชญากรรมหรือการกระทำรุนแรงรูปแบบใหม่ๆวิวาทตบตี ยิงกัน ฆ่ากันหรือกดดันจนถึงกับให้คู่กรณีกราบรถ ฯลฯ เหตุเพราะคนที่ใช้สื่อดิจิทัลมาจากต่างแหล่ง ต่างที่ ต่างสังคม ต่างอาชีพ ต่างระดับรายได้ ต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ ต่างระดับการศึกษา จากต่ำสุดจนถึงสูงสุด มาคลุกเคล้ากันด้วยสัดส่วนที่ขาดสมดุล ไร้ทิศไร้ทาง ไร้จรรยาบัน กลายเป็นพิษเป็นภัยพิษภัยเหล่านี้ ยิ่งทียิ่งมีมากขึ้นตามจำนวนคนใช้อินเตอร์เน็ตผลสำรวจเมื่อปีที่แล้ว คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวันหรือ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กลุ่มวัยที่ใช้เน็ตมากที่สุดคือกลุ่ม Gen Y ใช้เวลา 53.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือ 7.6 ชั่วโมงต่อวัน รองลงมาคือ Gen X ใช้ 44.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือ 6.32 ชั่วโมงต่อวัน กลุ่ม 3 Gen Z ใช้ 40.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน และกลุ่มสูงวัยหรือฝรั่งเรียกว่าคนยุค Baby Boom ใช้ 31.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือ 4.5 ชัวโมงต่อวันช่วงเวลาที่ใช้มากที่สุดในช่วงเวลาทำงานคือ 16.00-20.00 น. 76.6% ช่วง 08.00-12.00 ใช้ 76% และ 12.00-14.00 ใช้75.2% ช่วงเวลานอกทำงานที่ใช้มากที่สุดคือ 20.00-24.00 น. 70.3% ช่วง0.00-04.00 ใช้ 12.1% และ 04.00-08.00 ใช้ 11.4% ชนิดของสื่อที่ใช้กิจกรรมมากที่สุดคือ Social Network คือ 96.1% รองลงมากิจกรรมด้านบันเทิงผ่าน YouTube 88.1% ค้นหาข้อมูล 79.1% ใช้น้อยที่สุดคือค้าขายออนไลน์ 33.8% ซึ่งรัฐบาลกำลังวางแผนให้กลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามามีกิจกรรมในส่วนนี้มากขึ้นสื่อออนไลน์ที่ใช้มากที่สุดคือ Youtube 97.3% Facebook 94.8% และ LINE 94.6% โดยกลุ่ม GenY และ Gn Z ใช้มากที่สุด ขณะที่ Gen X และ Y ใช้ LINE มากที่สุด ขณะที่การใช้สื่อสื่อโทรทัศน์ยังผ่านจอทีวีลดลง หากแต่ไปเพิ่มในสื่อพกพาด้านข่าวสาร แม้จะมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการการคุย การแชร์ภาพกิจกรรมของแต่ละคน แต่ก็มากกว่าข่าวสารที่นำเสนอในสื่อกระดาษ สื่อโทรทัศน์และสื่ออื่นๆจนแทบจะเรียกได้ว่าบริการข่าวสาร ข้อมูล บทความ ย้ายจากสื่อเดิมมาสู่สื่อดิจิทัลกันหมดแล้วการเข้าถึงสื่อได้ง่ายแค่ปลายนิ้วจิ้ม ทำให้สื่อออนไลน์กลายเป็นแหล่งนำเสนอข่าวทั้งจากการแชร์มาจากสื่อเดิมและที่เข้ามาของนักข่าวสมัครเล่น ในอนาคตจะไม่มีการเรียนการสอนในสาขาสื่อสารมวลชนหรือนิเทศศาสตร์อีกต่อไป เพราะทุกคนสามารถเป็นนักข่าว ผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการ ดีเจฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนผ่านสถาบันใครขยันออกสื่อ ใครหามุกเด็ด สร้างข่าวแปลกๆ ข่าวกระแสประเภททอล์กออฟเดอะทาวน์ การใช้ถ้อยคำพลิกแพลง หรือการจูงใจด้วยภาพและถ้อยคำที่สะใจทั้งตัวเองและผู้เสพสื่อ ก็สามารถเด่นดังได้ การนำเสนอ จึงต้องเดาใจผู้รับสื่อก่อนว่า อะไรจะโดนใจหรือสะใจ มีคนกดไลค์หรือคอมเมนท์มากๆ เข้าชมมากจึงมีนักจิ้มจอใฝ่ฝันจะเป็น net idol หรือดาวเด่นในสื่ออินเตอร์เน็ตกันเกลื่อนกล่น เพราะในบางด้าน เช่นในด้านบันเทิงอาจจะเป็นบันไดดาราก็ได้ใช้หาเงินบริจาคก็ได้ เพราะคนไทยยุคนี้ความรู้สึกไวต่อข่าวสาร ไวต่อสิ่งเร้าทางอารมณ์ ทางความรู้สึก ถูกกระตุ้น ครอบงำด้วยสื่อออนไลน์ง่ายๆจูงใจให้ทำความดีก็ได้ จูงใจให้หลงผิดก็ได้ อารมณ์คล้อยตามแบบจิตวิทยารวมหมู่เกิดขึ้นง่าย สื่อหลักที่เคยเป็นผู้ชี้นำสังคมภายใต้กรอบและจรรยาบันในวันนี้ แปรสภาพตัวเองเป็นสื่อรองหรือสื่อทุติยภูมิ หยิบยกเอาข่าวที่บรรดานักข่าวสมัครเล่นนำเสนอมาต่อยอดหรือเป็นข่าวอ้างอิง กลายเป็นผู้ขายข่าวเซกั้นแฮนด์หรือข่าวใช้แล้ว ภาพหวาดเสียว ภาพสะเทือนอารมณ์ ในข่าว โดยเฉพาะคนที่กำลังโศกเศร้าเสียใจ หรือขาดสติ ทำให้แสดงออกทางร่างกาย สีหน้าท่าทาง ที่ๆสามารถควบคุมอารมณ์หรือการแสดงออกทางร่างกายได้ เคยเป็นข้อห้าในจรรยาบันสื่อมวลชน แต่ในสื่อออนไลน์มีการโพต์อย่างเสรี ที่สื่อหลักทำตามโดยเผลอเรอ สื่อออนไลน์มีพื้นที่ครอบคลุมไปทั่วโลก มีแอพพลิเคชั่นใหม่ๆเข้ามาเสริมไม่หยุดหย่อน ให้ผู้ใช้งานได้เป็นเจ้าของสื่ออย่างเท่าเทียมกัน ใครอยากนำเสนออะไรก็ได้ วันนี้จำนวนคนใช้สื่อออนไลน์ของไทยขณะมีกว่า 30 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศแล้ว มากเป็นอันดับ 2 ของโลกจากญี่ปุ่น จำนวนนี้เป็นผู้เสพสื่อโทรทัศน์ประมาณ 10 ล้านคน โดยเป็นผู้ชมผ่านจอโทรทัศน์กับชมผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนใกล้เคียงกันจำนวนผู้เสพสื่อมีมากขนาดนี้ หากสื่อที่เสพนั้นเป็นสื่อดีคุณธรรม ก็ดีไป หากใช้ในทางร้ายก็เกิดปัญหาสื่อดิจิทัลสามารถเป็นได้ทั้งอาหารที่มีคุณค่าและเป็นยาพิษร้ายแรงในเวลาเดียวกัน