แก้วกานต์ กองโชค การเปิดรับสมัครสอบ “ครูผู้ช่วย” ประจำปี 2560 จำนวน 6,437 อัตรา ใน 61 สาขาวิชา โดย 36 สาขาวิชา รับสมัครเฉพาะผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีอัตราว่าง 4,357 อัตรา และอีก 25 สาขาวิชา รับสมัครผู้ที่มี และไม่มีใบอนุญาตฯ มีอัตราว่าง 2,080 อัตรา ช่างเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่กำลังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น จำนวน 6,437 อัตรา เป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของ อัตราว่างทั้งหมด 12,000 อัตรา โดยข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2560 ระบุว่า ยอดรับสมัครครูผู้ช่วย ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้สมัครทั้งสิ้น 80,072 คน แยกเป็นกลุ่มที่มีใบอนุญาตฯ หรือผ่านหลักสูตร 5 ปี 45,369 คน กลุ่มที่ไม่ได้เปิดสอนหลักสูตร 5 ปี 17 สาขาวิชา และกลุ่มขาดแคลน 8 สาขาวิชา มีผู้สมัครสอบรวม 34,703 คน จากทั้งหมด 64 จังหวัด “บุญรักษ์ ยอดเพชร” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บอกว่า ผู้สมัครมากที่สุดใน 5 จังหวัดแรก ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นครราชสีมา 6,799 คน กศจ.กรุงเทพฯ 4,659 คน กศจ.ชลบุรี 4,003 คน กศจ.สุรินทร์ 3,482 คน และ กศจ.บุรีรัมย์ 3,473 คน ประเด็นสำคัญคือที่มีผู้สมัครจำนวนมาก เนื่องจาก รายได้ของครูผู้ช่วยนั้น อย่างน้อยทีสุดก็ประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน ประเด็นที่สองคือ การปลดล็อก สำหรับผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู สามารถสอบครูผู้ช่วยได้ จนทำให้มีการกดดันอย่างหนักจากกลุ่มคณาจารย์ครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ตลอดจนกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่เรียนครู ซึ่งคัดค้านกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีนโยบายให้ผู้จบสาขาวิชาอื่นๆ และไม่ได้เรียนครูโดยตรง และไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถสอบครูผู้ช่วยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2560 ได้ ความไม่พอใจนี้ลุกลามถึงขั้นมีการรณรงค์ล่ารายชื่อผู้ไม่เห็นด้วย 50,000 ชื่อ เพื่อขับไล่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ออกจากตำแหน่ง ทำให้ “นพ.ธีระเกียรติ” ต้องยอมถอยครึ่งก้าว โดยการแก้ไขหลักเกณฑ์การรับสมัคร ให้ผู้ที่ไม่มีใชประกอบวิชาชีพครูสามารถสอบได้ 25 สาขาวิชาเท่านั้น จากที่เคยรับสมัครสอบแข่งขันทุกสาขาวิชา แนวปฏิบัติใหม่ในจำนวน 61 สาขาวิชาที่เปิดสอบ กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือผ่านหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 36 สาขาวิชา ส่วนที่เหลืออีก 25 สาขาวิชาจะมีใบอนุญาตฯ หรือไม่มีใบอนุญาตฯ มาสมัครก็ได้ กลุ่มสาขาวิชาที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร 5 ปี จำนวน 17 วิชา ได้แก่ กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด, การเงิน/การบัญชี, จิตรกรรม, จิตวิทยาคลินิก, ดนตรีพื้นเมือง, นาฏศิลป์ (โขน), ภาษาพม่า, ภาษาเวียดนาม, ภาษาสเปน, เศรษฐศาสตร์, โสตทัศนศึกษา, หลักสูตรและการสอน, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างก่อสร้าง), อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างยนต์) และภาษามลายู และกลุ่มสาขาวิชาที่ขาดแคลนเรื้อรัง 8 สาขา ซึ่งเปิดสมัครแล้วไม่มีผู้สมัคร หรือสอบผ่านขึ้นบัญชีได้น้อยมาก ทำให้โรงเรียนขาดครูอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ วิทยาศาสตร์, วิทยาศาสตร์ทั่วไป, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน นั่นหมายตวามว่า ทั้ง 25 สาขาวิชาเหล่านี้ ผู้สมัครไม่ต้องไม่มีใบประกอบวิชาขีพครูโดยเปิดรับสมัครสอบวันที่ 29 มีนาคม-4 เมษายน 2560 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบวันที่ 10 เมษายน โดยจะ สอบข้อเขียนภาค ก. ความรอบรู้ความสามารถทั่วไป ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม อุดมการณ์ของความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 22 เมษายน สอบภาค ข. ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง ในวันที่ 23 เมษายน สอบสัมภาษณ์ภาค ค. ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ในวันที่ 24 เมษายน และประกาศผลภายในวันที่ 28 เมษายน 2560 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดประชุมวิดีโอทางไกลร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อได้ซักซ้อมความเข้าใจด้วยว่า “ในกรณีที่มีผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสอบได้ ทางคณะกรรมกาศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะต้องจัดส่งบัญชีรายชื่อมายัง สพฐ. เพื่อดำเนินการประสานไปยังคุรุสภาในการออกหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้ ซึ่งจะถือว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิ์สมบูรณ์ที่จะได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วย อย่างไรก็ตาม ภายในระยะเวลา 2 ปี คนกลุ่มนี้จะต้องพัฒนาตัวเองโดยศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) เพื่อให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามเงื่อนไขของคุรุสภา” นั่นหมายความว่า มีเวลาอีก 2 ปี สำหรับการให้ได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพครูจนทำให้ บัณฑิตที่กำลังหางานทำนับแสน มีโอกาสสอบแข่งขันกับผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูประเด็นสำคัญคือ “คุณภาพในปี 2560” จะต้องการันตีด้วยใบประกอบวิชาชีพครูหรือ ??? แล้วทำไม นักเรียนเก่งๆจึงต้องอาศัย “ติวเตอร์” นอกโรงเรียนเพื่อการสอบแข่งขันเข้าเรียน และหางานทำ ทั้งๆที่หลายๆคน ไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพครูแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงในปี 2560 ก็คือ ตลาดแรงงานต้องการคนที่สอบได้ และเรียนจบจากโรงเรียนดัง มหาวิทยาลัยดัง นั่นจึงทำให้การเป็นครูผู้ช่วย ไม่จำเป็นต้องเรียนครูมาโดยตรง !!!!