องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ประกาศการจัดอันดับดัชนีการรับรู้ การทุจริตของไทยในปี 2562 พบว่า ประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนนเท่ากับปีที่แล้ว แต่หล่นมาอยู่ในอันดับที่ 101 ร่วงจากปีก่อนที่อยู่อันดับ 99 และเป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน จากปีก่อนอยู่อันดับ 5 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่ได้อันดับ 1 ของโลกคือ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ได้ 87 คะแนน ตามด้วย ฟินแลนด์ 86 คะแนน, สิงคโปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ 85 คะแนน, ส่วนประเทศอาเซียนอื่น บรูไน อยู่อันดับ 35, มาเลเซีย อันดับ 51, อินโดนีเซีย อันดับที่ 85 เวียดนาม อันดับ 96 เป็นต้น ก่อนหน้านี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความแสดงความเห็น เรื่อง "สถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย" ไว้ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุว่า "ทำไมคอร์รัปชันยังไม่ลดลง.. คอร์รัปชันจะลดลงเมื่อข้าราชการทำตามกติกาและไม่ยอมให้ใครทำผิด ขณะที่ภาคประชาชนต้องสามารถติดตาม ตรวจสอบ แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวใคร เพราะได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีหลายเรื่องที่ทำให้ประชาชนผิดหวัง เช่น บ่อยครั้งที่กลไกภาครัฐไม่โปร่งใสตรงไปตรงมา มีการใช้อำนาจและกฎหมายแบบสองมาตรฐาน มีการแทรกแซงการบริหารราชการและองค์กรอิสระแบบทีใครทีมัน การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่ปรากฏ อภิสิทธิ์ชนและพวกพ้องตกเป็นข่าวมัวหมองครั้งแล้วครั้งเล่า คนมีอำนาจชอบพูดคำว่าโปร่งใส แต่ไม่ชอบเปิดเผยข้อมูล อ้างแต่ว่าเป็นเรื่องความลับของทางราชการหรือสิทธิส่วนบุคคล แม้แต่เอกชนที่มาประมูลงานหรือขอสัมปทานยังไปช่วยปกปิดให้เขาโดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า การที่มีนโยบายมีมาตรการ แต่กลไกรัฐไม่เดิน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำไม่รู้ไม่ชี้หรือเฉไฉไป คนมีอำนาจสั่งการก็ไม่กำกับดูแลให้งานเดิน เมื่อไม่มีการปฏิบัติจริงจังก็ไม่มีอะไรสกัดกันคนโกงหรือทำให้ลดลงได้ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้คะแนนอันดับคอร์รัปชันโลก (CPI) ของไทยไม่กระเตื้องขึ้นเลย ตัวอย่างแรก เรื่องการป้องกันคอร์รัปชันในหน่วยราชการ ตามมติ ครม. เมื่อ 27 มีนาคม 2561 ที่หัวหน้าหน่วยงานต้องรับผิดด้วยหากเกิดคอร์รัปชันในหน่วยงานของตน ดังนั้นเขาต้องหาทางป้องกันให้รัดกุม และเมื่อมีคนทำผิดหรือถูกร้องเรียนก็ต้องเร่งสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ผ่านมาเกือบสองปียังไม่เห็นมีใครทำอะไร ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับคนตำแหน่งใหญ่โตหรือคนตำแหน่งเล็กๆ ตัวอย่างที่สอง การปฏิรูปการให้บริการประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ประกาศตั้งแต่ต้นปี 2558 จากนั้น กพร. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมหลายประการที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและคนทำมาค้าขายอย่างมาก แต่ผ่านมาสี่ปี การปฏิบัติในหน่วยงานต่างๆ ยังมีน้อยมาก โดยยกข้ออ้างและข้อขัดแย้งของกฎหมายสารพัด ตัวอย่างที่สาม รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของทางราชการให้มากที่สุดเพื่อความโปร่งใส แต่ผู้มีอำนาจและหน่วยงานของรัฐจำนวนมากกลับทำให้ผิดเพี้ยน คือเปิดเผยน้อยลงหรือมีข้อจำกัดมากขึ้น เช่นกรณีของ ป.ป.ช. สตง. และ กกต. ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะเจตนาหรือขาดความเข้าใจกันแน่ จะชนะคอร์รัปชัน ต้องร่วมมือกัน..สถานการณ์คอร์รัปชันไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นเพราะความตื่นตัวของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงการที่เรามีมาตรการดีๆ ออกมาหลายอย่าง แต่โดยรวมแล้วคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาวิกฤติ ดังนั้นทุกอย่างจะให้ดีขึ้นได้จริงในอนาคตต้องอาศัยความตั้งใจและเร่งลงมือทำร่วมกันให้มากกว่านี้" เราเห็นว่า แม้ปัจจุบันประชาชนจะมีความตื่นตัว หน่วยงานต่างๆพยายามสร้างจิตสำนึกให้เป็นสังคมไม่ทนต่อการทุจริตมากขึ้น หากแต่ยังปรากฎพฤติกรรมที่ไม่สุจริตในกลุ่มชนชั้นนำของสังคม ล่าสุดกรณีเสียบบัตรแทนกันของส.ส.สะท้อนถึงปัญหาคอร์รัปชัน ท่าทีของรัฐบาลจึงต้องไม่ทนต่อพฤติกรรมโกงเช่นนี้ และต้องมีมาตรการเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในสังคม