ทีมข่าวคิดลึก หลังจากทิ้งหมัดเสร็จ "ทักษิณชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เดินเข้ามุมหลบฉากไปตามระเบียบ นัยว่าแค่ต้องการกระแทกเพื่อให้กระทบไปถึง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ"หรือ คสช. ฝ่ายที่ยึดอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ต้องออกมาแจงสี่เบี้ย ตอบคำถามกับสังคมกันต่อไปว่า เมื่อทักษิณ ประกาศว่า "หยุดแล้ว" ถ้าอย่างนั้นแล้ว "ใคร" คือฝ่ายที่ยังไม่ยอมหยุด ? ก่อนที่คำถามจะมาถึง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บรรดา แม่ทัพนายกอง ทั้งจาก"ทีมโฆษกรัฐบาล-ทีมโฆษก คสช." ไปจนถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ขาประจำที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามทักษิณ ต่างดาหน้าออกมาตอบโต้ สวนหมัดแทนบิ๊กตู่กันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการสวนกลับว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องของการกลั่นแกล้งตามที่ทักษิณโอดครวญข้ามประเทศ หากแต่เป็นเพราะทักษิณทำตัวเองทั้งสิ้น ! สำหรับบิ๊กตู่แล้วต้องยอมรับว่าด้วยดำรงอยู่ในหลายสถานะ จึงเป็นเหมือน "เป้าโจมตี" ที่โดดเด่นและชัดเจนมากที่สุด ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องแบกรับและเผชิญกับแรงกดดันมากที่สุด ต่อเนื่องที่สุด แต่ดูเหมือนว่า โจทย์ยากข้อนี้ ตัว พล.อ.ประยุทธ์ มองข้ามช็อตไปไกลกว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนปฏิกิริยาจากฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ต่างจาก "ผู้แพ้" เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.ต่างรู้ดีว่ามี "งานใหญ่" รออยู่ข้างหน้าซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เพียงแค่งานใดงานหนึ่งที่จะต้องเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความปรองดอง การทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งการจัดการเลือกตั้ง "สนามใหญ่" คือการเลือกตั้ง ส.ส. จนกว่ารัฐบาล คสช. จะเก็บกวาดปัญหาต่างๆ จนเสร็จลุล่วง โดยเฉพาะการสกัดกั้นไม่ให้เกิดความรุนแรง หลังการเลือกตั้งเมื่อมีฝ่ายที่ไม่ยอมรับผลจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองยังต้องเผื่อใจเอาไว้สำหรับการเผชิญปัญหาที่จะจากการบริหารนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการหาทางแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชนหลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการต่างๆเพื่อฉุดสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น ส่วนแนวรบทางด้านการเมืองนั้นแน่นอนว่าบิ๊กตู่ และ คสช. อาจไม่ได้ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามเพียงลำพังอย่างน้อยที่สุดย่อมไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยไม่มี "แรงหนุน" จากพันธมิตรแนวร่วม แม้ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ยังสามารถเอาตัวรอดมาได้จากกรณีการตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทั้งที่สถานการณ์รอบด้านดูคล้ายกับว่ารัฐบาลกำลังถูกกดดันอย่างหนักแต่สุดท้ายกลับกลายเป็นฝ่ายรัฐบาล เองที่พลิกเกม ผ่านพ้นไปได้อย่างฉลุยแม้จะมีการชุมนุมจากภาคประชาชนที่หน้ารัฐสภา ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แต่แล้วไม่มีเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความรุนแรงเกิดขึ้น ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าการเมืองร้อนๆ ที่ระอุรับเทศกาลสงกรานต์ รอบนี้จะยุติลงเพียงแค่นี้หรือนี่จะเป็นการเริ่มต้น นับหนึ่งของความเข้มข้นยกใหม่