สมบัติ ภู่กาญจน์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนคอลัมน์ให้ความรู้ เรื่อง‘การกำเนิดของพระธรรมยุตในประเทศไทย’ อันเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธในสังคมไทย มาถึงเรื่องราวดังต่อไปนี้ “ อย่างไรก็ตาม พระธรรมยุตในขั้นแรก ก็คงเป็นเพียง ‘คณะ’คณะหนึ่งที่มีอยู่ในวัดซึ่งเป็นมหานิกาย ต่อมา หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้นิมนต์พระภิกษุพระจอมเกล้าฯ ในสมัยที่ยังทรงผนวช มาครองวัดบวรนิเวศวิหาร พระวัดบวรนิเวศทั้งวัด จึงได้กลายเป็นพระธรรมยุตทั้งหมดขึ้นมา และคณะธรรมยุต ก็กลายเป็นนิกายธรรมยุต หรือที่เรียกตามบาลีว่า ‘ธรรมยุติกนิกาย’ขึ้น โดยไม่ร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับพระมหานิกาย นิกายธรรมยุตนั้นโชคดีที่มีพระน้อย แตกต่างกับมหานิกายซึ่งมีพระอยู่มากมายทั่วราชอาณาจักร การควบคุมบังคับบัญชากันในหมู่พระธรรมยุตจึงสามารถทำได้ง่าย และส่งผลให้พระธรรมยุตเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ตลอดจนวัตรปฏิบัติบางอย่างที่ชวนให้น่าเลื่อมใสในปฏิปทา ส่วนพระมหานิกายนั้นมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็อยู่ในพื้นที่ซึ่งแตกต่างห่างไกลกัน อันส่งผลให้ยากที่พระเถระของมหานิกายจะควบคุมดูแลกันให้ทั่วถึงได้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกหรือความเชื่อถือขึ้นว่า พระธรรมยุตนั้นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยหรือวัตรปฏิบัติมากกว่าพระมหานิกาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในยุคนั้น กรมสังฆการี ก็ยังคงเป็นหน่วยงานที่ปกครองพระสงฆ์ตลอดมา จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ผู้เป็นประมุขสงฆ์ธรรมยุตอยู่ในขณะนั้น ได้ถวายพระพรต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฯ ขอพระราชทานให้พระธรรมยุตได้ปกครองกันเอง ไม่ต้องให้อยู่ในการปกครองของฆราวาส พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพิจารณาเห็นว่าพระธรรมยุตควบคุมบังคับบัญชากันได้แล้ว จึงทรงโปรดฯให้ตามที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯถวายพระพรขอ พระธรรมยุตจึงได้แยกจากอำนาจของฆราวาสมาปกครองกันเอง มีพระธรรมยุตเป็นผู้ปกครองพระธรรมยุต สังฆการีไม่มีอำนาจตั้งและพิจารณาอธิกรณ์พระธรรมยุตและสึกพระธรรมยุตอีกต่อไป สิทธิที่พระธรรมยุตได้รับพระราชทานในครั้งนี้ เรียกว่า พรพิเศษ และโดยเหตุที่ประมุขของพระธรรมยุตในขณะนั้นคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 สังฆการีผู้สูญเสียอำนาจก็คงจะเกรงพระบารมีไม่กล้าเล่นรังแกพระธรรมยุตเท่าไรนัก หรือจะมีบ้างก็คงน้อย กับพระบางรูป เมื่อสบโอกาสในบางครั้งบางที เรื่องพระธรรมยุตถูกรังแกนี้ไม่ใช่เรื่องเดา เพราะมีหลักฐานเมื่อแรกเกิดมีพระธรรมยุตขึ้นในรัชกาลที่๓ คนที่ไม่เห็นด้วยกับพระธรรมยุตได้เล่นรังแกพระธรรมยุตด้วยวิธีการต่างๆมาก ดังเช่นกรมหลวงรักษ์รณเรศ พระราชโอรสในรัชกาลที่๑ ที่ภายหลังถูกถอดเป็นหม่อมไกรสรและถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ 3 ซึ่งผมได้เขียนถึงมาแล้ว มีเรื่องราวที่คนเก่าๆเล่าว่า ท่านเห็นว่าพระธรรมยุตอุ้มบาตรออกรับบาตร โดยไม่มีถลกบาตรและไม่สะพายบาตร ท่านก็เลยลองดี ใส่บาตรพระด้วยการเอาข้าวต้มร้อนๆใส่บาตรพระธรรมยุต ก็บาตรนั้นเป็นเหล็ก พระธรรมยุตจะต้องร้อนมือเพียงใด ผู้ฟังก็ต้องพิจารณากันเอาเอง ส่วนพระธรรมยุตนั้นจะปล่อยหรือขว้างบาตรทิ้งก็ไม่ได้ เพราะจะเสียสำรวม ต้องทนมือพองกันเอา นี่คือเรื่องที่เล่าขานกันมา หม่อมไกรสรนั้น คนเก่าเล่าว่า ท่านเป็นศัตรูกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯและพระธรรมยุตมาโดยตลอด จนเมื่อหลังจากที่ท่านถูกถอดและถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ 3 นั้น มีผู้นำพระพุทธรูปองค์หนึ่งไปถวายพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯขณะที่ยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ท่านก็เลยขนามนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระไพรีพินาศ นี่คือเรื่องที่ผมได้ยินท่านผู้ใหญ่คนเก่าและแก่แอบกระซิบกระซาบ บอกเล่าให้ผมรับฟังมา ยุคนี้ ผมเห็นมีพระไพรีพินาศจำลอง ซึ่งทำเป็นพระบูชาบ้าง พระเครื่องบ้าง พระกริ่งบ้าง บูชากันให้เกร่อ ผมจึงเขียนบอกมาให้รับฟังกันไว้และพิจารณากันเองก็แล้วกัน” อาจารย์คึกฤทธิ์ เขียนบทความชิ้นนี้ โดยเอ่ยถึงสกุลๆหนึ่ง ว่า สมาชิกของสกุลอย่าได้เผลอเอาพระนั้นมาผูกคอเข้าก็แล้วกัน เพราะตัวไพรีคือต้นสกุลนั้นเอง ... ซึ่งในกาละและเทศะของการนำเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่กันในยุคนี้ ในขณะที่ผู้เขียนเดิมและบรรยากาศเดิมก็เปลี่ยนแปลงไปมากมายจากอดีตถึงปัจจุบัน... ผมขออนุญาตไม่เอ่ยถึงเนื้อความดังกล่าว แต่จะขอตัดตอน ไปที่ข้อเขียนตอนต่อไป ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ดำเนินเรื่องต่อ ด้วยข้อความดังนี้ “เมื่อพระธรรมยุตได้รับพระราชทานพรพิเศษจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระธรรมยุตก็ได้ปกครองกันเอง โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสทรงเป็นประมุข มีเจ้าคณะธรรมยุตปกครองพระธรรมยุตทั้งในกรุงและหัวเมือง มีพระวินัยธรรมยุตคอยพิจารณาอธิกรณ์ของพระธรรมยุต และวินิจฉัยปรับอาบัติกันโดยไม่มีฆราวาสเข้ามาข้องเกี่ยวด้วย หรือเป็นผู้ชี้ขาดอย่างเคยมีมา ถ้าจะพิจารณาเรื่องนี้กันด้วยใจของคนในปัจจุบัน (ขออนุญาตย้ำว่า ปัจจุบันของงานเขียนคือเมื่อสี่สิบปีมาแล้วนะครับ ซึ่งจะต่างหรือไม่ต่างจากปัจจุบันนี้แค่ไหน ท่านผู้อ่านอ่านไปแล้วก็คิดตามไปก็แล้วกัน) การที่พระธรรมยุตได้รับพระราชทานพรพิเศษให้มีสิทธิปกครองตนเองนี้ น่าจะทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจแก่หมู่พระมหานิกาย ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของฆราวาสมาก เพราะความไม่เท่าเทียมกันกับพระธรรมยุต ซึ่งหากว่าเหตุการณ์นั้นมาเกิดขึ้นในยุคนี้ ก็คงจะต้องมีการโวยวายร้องขอความเป็นธรรม หรือชุมนุมประท้วง หรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เห็นว่า พระมหานิกายไม่ได้รับความเป็นธรรมเทียบเท่าพระธรรมยุตเกิดขึ้นแน่ แต่เผอิญในสมัยนั้น เป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุดและเป็นล้นพ้น พระมหานิกายจึงต้องยอมรับภาวะอันไม่เท่าเทียมกันนี้ไว้โดยดุษณี มิได้มีการแสดงไม่พอใจหรือมีปฏิกิริยาต่อต้านเกิดขึ้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใด อีกทั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ทรงมีพระปรีชาหลักแหลมและทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมในการปกครองอย่างยิ่ง ในฐานะที่ทรงเป็นสกลสังฆปรินายก ก็ทรงมีพระเมตตาต่อพระมหานิกายและพระธรรมยุตเสมอกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอคตินิกาย การร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับพระมหานิกายก็ทรงทำด้วยตลอดมา นอกจากนั้นก็ยังทรงแตกฉานในพระไตรปิฎก ถึงขั้นปราชญ์ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ทรงแต่งตำราเพื่อการศึกษาของสงฆ์ไว้มากมาย ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงใช้กันอยู่ เรียกได้ว่าทรงเป็นครูของทั้งพระธรรมยุตและพระมหานิกาย และเป็นที่รักเคารพสูงสุดของพระทั้งสองนิกาย คุณลักษณะอันควรแก่การบูชา ของผู้ที่อยู่ในฐานะพึงบูชา เป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้พระมหานิกายต้องยอมรับสภาพที่ยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของฆราวาสมาโดยดุษณีในระยะแรก” ( อ่านต่อสัปดาห์หน้าครับ )