ภาครัฐหรือระบบราชการไทยนั้นได้สร้างคุณงามความดี สร้างความเจริญให้กับเมืองไทยไว้มากมหาศาล แต่ก็มีงานที่บกพร่อง กระทั่งผิดพลาดไม่น้อยเหมือนกัน
ในสมัยโบราณ “ราชการ” กำกับควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เมื่อโลกพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ บทบาทภาครัฐที่ครอบงำทุกอย่างค่อย ๆ ลดลง การทำงานของภาครัฐจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือยินยอมพร้อมใจจากภาคเอกชนและภาคประชาชนมากขึ้น การบริหารบ้านเมืองในทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะต้อง “กระจายอำนาจ” มากขึ้นเรื่อย ๆ
ประเทศไทยแม้จะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมายาวนานแปดสิบกว่าปีแล้ว ชาวไทยผ่านการเลือกตั้งเสรี มีรัฐบาลที่ประกอบตัวขึ้นจากนักการเมืองอาชีพมากมายหลายรัฐบาล และก็มีรัฐบาลจากการรัฐประหารเป็นรัฐบาลเผด็จการบ้างกึ่งเผด็จการบ้างหลายรัฐบาลเช่นกัน จากบทเรียนข้อเท็จจริงแปดสิบกว่าปี เป็นเครื่องยินยันว่า สังคมไทยมีอัตลักษณ์ของตนเอง การเมืองไทยเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ”
แต่จากข้อเท็จจริงเช่นกันก็บ่งบอกว่า คณะบุคคลที่มีโอกาสทำงาน มีอำนาจในสภานิติบัญญัติ ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสรี และรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ส่วนใหญ่มิได้ปฏิบัติการรักษาผลประโยชน์หรือเป็นตัวแทนปกป้องสิทธิผลประโยชน์ของประชาชนชั้นล่าง เช่น ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกรรายย่อย หรือที่เคยเรียกกันว่าพวกกรรมกรชาวนาอย่างแท้จริงเลย
บุคคลที่มีโอกาสได้อำนาจเป็น “ผู้แทนราษฎร” ทั้งจากการเลือกตั้งเสรีและการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มี “หลักคิด” มี “วิสัยทัศน์” มี “จุดยืน” ของชนชั้นสูงและชนชั้นกลางระดับสูง
ที่จะมีจุดยืนของกรรมกรชาวนานั้น มีเป็นส่วนน้อย
ผลงานของฝ่ายนิติบัญญัติจึงยังเอื้อต่อประโยชน์ของกรรมกรชาวนาไม่เพียงพอ
ภาคประชาชนและนักกิจกรรมภาคประชาชนเอง ก็มีทั้งแนวคิด มีวิสัยทัศน์ มีจุดยืน ทั้งฝ่ายชนชนสูง,ชนชั้นกลาง กับฝ่ายชนชั้นล่าง แต่กลุ่มกิจกรรมภาคประชาชนส่วนใหญ่จะโน้มเอียงไปทางรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นล่างมากกว่า
ดังนั้นเอง ภาคประชาชนจึงมีกิจกรรมเหมือนกับเป็นฝ่ายค้านตัวจริง
ขณะที่ฝ่ายต้านในสภานิติบัญญัติเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์คนละกลุ่มกับกลุ่มที่ได้กุมอำนาจรัฐ มิใช่เป็นฝ่ายค้านตัวจริงที่จะพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง
เมื่อมีปัญหาเรื่องความแตกต่างทางแนวคิดในเรื่องแนวท่งพัฒนาสังคมที่เป็นเรื่องสำคัญชี้ขาดอนาคต ภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องแสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้าน แทนนักการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา
ซึ่งการคัดค้านฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)นั้น ภาคประชาชนก็มิได้มั่วคัดค้านไปเสียทุกเรื่องทุกราว
แม้ว่าองค์กรภาคประชาชนจำนวนน้อยจะดูเหมือนเป็นกระบอกเสียงของต่างชาติ แต่องค์กรภาคประชาชนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ คัดค้านโครงการของรัฐที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของชาติและประชาชนด้วยความจริงใจ มิได้มุ่งหมายสร้างสถานการณืหรือสร้างความวุ่นวายทางการเมือง
ปวงชนชาวไทยจึงควรจำแนกแยกความแตกต่างระหว่างการคัดค้านอภิโครงการ และ/หรือ แนวทางการพัฒนาชุมชน การใช้การประมูลสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการสภาพแวดล้อมของชุมชน ฯ กับกลเกมก่อความวุ่นวายทางการเมืองที่มีกลุ่มผลประโยชน์ยักษ์ใหญ่หรือกลุ่มการเมืองชัดใยอยู่เบื้องหลัง
ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปอีกกี่ชุด ถ้าวิสัยทัศน์และจุดยืนยังคงเดินทามแนวทางพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจกระแสหลัก ก็ยังจะคงมีภาคประชาชนคัดค้านแนวทางนั้นตลอดไป