ในการประชุมประจำปี World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ PwC ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเอกชน หรือซีอีโอ กว่า 1,581 คน จาก 83 ประเทศทั่วโลก ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562 โดยผลการสำรวจพบว่า บรรดาซีอีโอทั่วโลกต่างแสดงมุมมองที่เป็นลบต่อเศรษฐกิจโลกสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ โดย 53% คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี 2562 และ 5% ในปี 2561 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มถามคำถามนี้เป็นครั้งแรกในปี 2555 ในทางตรงกันข้าม จำนวนซีอีโอที่คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นนั้น ลดลงจาก 42% ในปี 2562 เหลือเพียง 22% ในปี 2563 บรรดาซีอีโอมีมุมมองที่เป็นลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากเป็นพิเศษในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และตะวันออกกลาง โดยซีอีโอ 63%, 59% และ 57% จากภูมิภาคดังกล่าวตามลำดับ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลงในปีนี้ และมีมุมมองที่ไม่เป็นบวกมากนักต่อแนวโน้มของบริษัทตัวเองในปีนี้ โดยมีซีอีโอเพียง 27% ที่ "มั่นใจมาก" เกี่ยวกับการเติบโตขององค์กรใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 และลดลงจากระดับ 35% ในปี 2562 การที่บรรดาซีอีโอมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของรายได้เปลี่ยนไป ถือเป็นตัวคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี เพราะจากการวิเคราะห์การคาดการณ์ของซีอีโอนับตั้งแต่ปี 2551 พบว่าความเชื่อมั่นของซีอีโอที่มีต่อการเติบโตของรายได้ใน 12 เดือนข้างหน้า และการเติบโตที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลกนั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก หากเป็นไปตามการวิเคราะห์ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจชะลอลงแตะระดับ 2.4% ในปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ส่วนใหญ่ รวมถึงการคาดการณ์ของ IMF เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังคงเป็นตลาดอันดับหนึ่งที่บรรดาซีอีโอต้องการทำธุรกิจใน 12 เดือนข้างหน้า ที่ระดับ 30% ตามมาด้วยจีนที่ 29% ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองส่งผลให้ซีอีโอจีนสนใจตลาดสหรัฐลดลงอย่างมาก โดยในปี 2561 ซีอีโอจีน 59% เลือกสหรัฐเป็นตลาดสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก แต่ในปี 2563 ตัวเลขดังกล่าวร่วงลงเหลือเพียง 11% และพบว่าออสเตรเลียก้าวขึ้นมาเป็นตลาดสำคัญแทน โดยซีอีโอจีน 45% มองว่าออสเตรเลียเป็นตลาดสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2561 สำหรับตลาดสำคัญที่เหลือในห้าอันดับแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว ได้แก่ เยอรมนี (13%) อินเดีย (9%) และสหราชอาณาจักร (9%) โดยสหราชอาณาจักรยังติดห้าอันดับแรกแม้เผชิญความไม่แน่นอนจาก Brexit ส่วนออสเตรเลียยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาติดห้าอันดับแรกแม้ได้รับความสนใจจากซีอีโอจีนมากขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม มุมมองของบรรดาซีอีโอ สะท้อนความไม่เชื่อมั่นและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศไทยเอง แม้ยังไม่มีผลการสำรวจออกมาที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าแนวโน้มทิศทางไม่แตกต่างจากบรรดาซีอีโอทั่วโลกนัก การบ้านของรัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและภาคเอกชน ผลักดันมาตรการช่วยเหลือ ให้กล้าลงทุนเพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ