รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สังคมไทย ณ วันนี้ มีข่าวอาชญากรรมและปัญหาสังคมต่างๆเกิดขึ้นทุกวัน และนับวันยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ข่าวฆ่าข่มขืน จี้ชิงทรัพย์ หรือเหตุการณ์ปล้นร้านทอง จ.ลพบุรี เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,365 คน สรุปผลได้ ดังนี้ เมื่อเปรียบเทียบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วงนี้ กับเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 67.69 คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแย่ลง ร้อยละ เพราะ มีข่าวให้เห็นทุกวัน รุนแรงมากขึ้น มาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ สังคมเสื่อมโทรม คนขาดคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเหมือนเดิม ร้อยละ 27.47 เพราะสังคมมีปัญหามานาน แก้ไขได้ยาก ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ทำให้ประชาชนต้องดูแลตัวเอง ระมัดระวัง ฯลฯ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น ร้อยละ 4.84 เพราะ สังคมตื่นตัว ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ภาครัฐมีมาตรการเข้มแข็งมากขึ้น กฎหมายเข้มงวดเอาจริงเอาจัง ฯลฯ ประชาชนคิดว่าปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ณ วันนี้ สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 53.87 คือ สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ คนหมดหนทาง ต้องต่อสู้ดิ้นรน ยอมกระทำผิด รองลงมา ได้แก่ สภาพสังคมเสื่อมโทรม มีความเหลื่อมล้ำสูง คุณภาพชีวิตแย่ ร้อยละ 24.46 รัฐบาลยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ประชาชนต้องพึ่งพาตนเอง ร้อยละ 21.36 คนขาดคุณธรรม จริยธรรม เห็นแก่ตัว ไม่มีจิตสำนึก ร้อยละ 18.27 และการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด เอาผิดไม่ได้ ร้อยละ 14.55 ประชาชนวิตกกังวลกับปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ณ วันนี้ มากน้อยเพียงใด? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 42.20 คือ ค่อนข้างวิตกกังวล เพราะกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่ส่งผลให้คนมีปัญหามากขึ้น ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ วิตกกังวลอย่างมาก ร้อยละ40.00 เพราะ มีข่าวให้เห็นทุกวัน คนจิตใจโหดเหี้ยมมากขึ้น ปืน อาวุธผิดกฎหมายหาซื้อได้ง่าย ตำรวจไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ฯลฯ และไม่ค่อยวิตกกังวล ร้อยละ14.07 เพราะ พยายามใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีความเสี่ยง เพิ่มความระมัดระวัง รอบคอบมากขึ้น ฯลฯ และไม่วิตกกังวลเลย ร้อยละ 3.73 เพราะ ดูแลตัวเองได้ ไม่ค่อยได้ออกไปไหน อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย ป้องกันตนเองเสมอ ไม่พกสิ่งของมีค่าติดตัว ฯลฯ กรณี ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องใด? ที่ประชาชนวิตกกังวลมากที่สุด พร้อมแนวทางแก้ไข พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 67.59 คือ โจรผู้ร้าย จี้ปล้น ชิงทรัพย์ แนวทางแก้ไข คือ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มระบบรักษความปลอดภัย บทลงโทษรุนแรง ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ การใช้ความรุนแรง พกอาวุธ ปืน มีด สิ่งผิดกฎหมาย ร้อยละ 32.76 แนวทางแก้ไข คือ เจ้าหน้าที่ดูแลกวดขัน เข้มงวด ตรวจตราการใช้อาวุธผิดกฎหมาย ไม่ละเว้นโทษแก่ผู้ใด ฯลฯ การแพร่ระบาดของยาเสพติด ร้อยละ 25.17 แนวทางแก้ไข คือ กวาดล้างให้หมดสิ้น ถอนรากถอนโคน จับกุมผู้ค้ารายใหญ่ ครอบครัวต้องดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ฯลฯ ล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน ร้อยละ 21.38 แนวทางแก้ไข คือ เพิ่มโทษให้หนัก ประหารชีวิต จับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ มุ่งเน้นปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ และปัญหามลพิษ ฝุ่น ควัน ร้อยละ 15.17 แนวทางแก้ไข คือ ภาครัฐแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รักษาสิ่งแวดล้อม ประชาชนดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ฯลฯ สิ่งที่อยากฝากบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 46.51 คือ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ปรับปรุงบทลงโทษให้เหมาะสม รองลงมา ได้แก่ ตรวจสอบการทำงานของกล้องวงจรปิดทุกจุดให้ใช้งานได้จริง ร้อยละ 43.41 เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ร้อยละ 20.54 ทุกคดีที่เกิดขึ้นควรเร่งติดตาม จับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว ร้อยละ 18.60 และนำเสนอข่าวที่เป็นจริง สร้างสรรค์ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ร้อยละ16.67 ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ณ วันนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำตอบแล้ว ต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าว ส่งผลต่อความรู้สึกของคนในสังคม โดยเฉพาะในมิติความหวาดวิตกในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องรีบดำเนินการ คงหนีไม่พ้นการบังคะบใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตลอดจนกวดขันดูแลพื้นที่ต่างๆ อย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนน้อยที่สุด แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแบบ เต็ม 100% แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องฉุกคิดได้แล้วว่า “ความรุนแรงในสังคมแบบรายวัน” (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) เป็นปัญหาที่ประมาท ไม่ได้...แล้วจริงจริง!!