ตัวเลขรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ (สศช.) เปิดเผยว่า ในไตรมาสสองของปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8% เป็นอัตราที่ชะลอลงจาก 6.3% ในไตรมาสก่อน
ทั้งนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ มีแนวโน้มทรงตัว จากสัดส่วนที่สูงสุดในปี 2558 ที่80.8% และค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆในปี 2559 ที่ 79.3% ต่อเนื่องมาถึงปี 2560 ที่ 78.05% ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เป็นปัจจุบันที่สุดอยู่ที่ไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 78.7% ซึ่งจะพบว่าวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรและเพื่อดำเนินธุรกิจ
สศช. ยังชี้ว่าสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นผลจากพฤติกรรมของทั้งผู้ปล่อยกู้และผู้กู้ เพราะผู้ปล่อยกู้มีการแข่งขันในระดับสูงทั้งตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อตลาดรถยนต์ นำไปสู่การเสาะหาผู้กู้ในกลุ่มผู้ที่มีฐานะทางการเงินที่ด้อยลงเรื่อย ๆ ผ่านการออกมาตรการส่งเสริมการขายต่าง ๆ เช่น การผ่อนชำระสินค้าโดยใช้บัตรเครดิตด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาก่อหนี้บัตรเครดิตมากขึ้น
ขณะที่ผู้กู้มีพฤติกรรมการออมที่น้อย ทำให้ต้องเป็นหนี้ในระดับสูงและใช้เวลาผ่อนชำระนาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การซื้อสินค้าสะดวกรวดเร็วขึ้นผ่านการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กระตุ้นการก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งหากผู้กู้ไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สถานการณ์หนี้ครัวเรือนอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในภาพรวม
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 80.0-81.5% ต่อจีดีพีในปี 2563 โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวยังคงเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเนื่อง และมีผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาที่ 79.1% ต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
ทั้งนี้การสำรวจครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งได้สอดคล้องกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในภาพรวมทั้งประเทศยังพบว่าสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (ดีเอสอาร์) เฉลี่ยที่ 39.4% ของรายได้ ต่อเดือน ขณะที่มีรายจ่ายในชีวิตประจำวัน 48% ของรายได้ต่อเดือน เท่ากับว่า เงินที่เหลือสำหรับออมและลงทุน หรือเก็บไว้เป็นกันชนยามฉุกเฉินจะมีสัดส่วนเพียง 12% ของรายได้เท่านั้น โดยเฉพาะเจนวายและผู้กู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีการก่อหนี้สูงขึ้นจนไม่มีเงินออมเลย
ขณะที่พฤติกรรมการก่อหนี้ของกลุ่มเจนวายมีสัดส่วน 47.8% ของเจนวายทั้งหมด มีหนี้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต 84% และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 48% ซึ่งเป็นพฤติกรรมก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค และทำให้ภาระผ่อนต่อเดือนสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามต้องติดตามหลังจากนี้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีแนวทางเข้าดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างไรกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของแต่ละครัวเรือนมีความแตกต่างกัน เพราะบางครัวเรือนมีรายได้จร ไม่มีงานประจำ และมีรายได้ค่อนข้างต่ำอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์ หากหนี้ครัวเรือนของไทย ปรับขึ้นเป็น 80% จะส่งผลกระทบ ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอี รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนด้วย และแน่นอนว่า หากปัญหาหนี้ครัวเรือนลุกลาม ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล
ปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาล และสถาบันการเงิน ที่จะต้องหามาตรการเชิงรุก เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้ สามารถอยู่ได้ ไม่กลายเป็นหนี้เสีย และส่งเสริมให้ความรู้เท่าทัน ในการปลดหนี้