หลายปัญหาในประเทศไทย เป็นปัญหาซ้ำซาก หรือกลายเป็นขาประจำที่จะต้องประสบ ไม่ว่าจะมาเร็ว หรือมาช้า เช่น ปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ที่มักจะตามมาด้วยปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาแพง เป็นวงจรเช่นนี้ในทุกๆปี
ปีนี้ ก็ไม่พ้นต้องวนกลับไปสู่ปัญหาเดิม ที่ประชาชนจะต้องเผชิญ ข้อมูลจากนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน คาดการณ์ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งขณะนี้ว่า จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดของไทยในปีนี้ได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลง และราคาปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกเจ้า ที่คาดว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิน่าจะทรงตัวในระดับสูงที่ตันละกว่า 14,000-15,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียวน่าจะยืนได้สูงกว่าตันละ 14,000 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าราคาน่าจะสูงถึงตันละกว่า 9,000-10,000 บาท จากปัจจุบันตันละประมาณ 8,000 บาท เพราะคาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังจะเสียหายเกือบครึ่งหนึ่งหรือจะมีผลผลิตเพียง 3.5-4 ล้านตันข้าวเปลือก จากปกติที่ประมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก
นอกจากนี้ ยังจะทำให้ราคาผักสดปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน จากผลผลิตที่คาดว่าจะเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะผักใบ รวมถึงมะนาว ที่คาดว่าปีนี้ราคาน่าจะสูงกว่าที่ผ่านมา จึงต้องการให้ผู้ที่ใช้มะนาวจำนวนมาก อย่างร้านอาหาร ภัตตาคาร เร่งซื้อมะนาวในช่วงนี้ที่ยังราคาต่ำมาแช่แข็งไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งนี้ สำหรับผลไม้สด อาจมีบางชนิดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่กรมได้หาแนวทางบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกร และหามาตรการเชื่อมโยงจากแหล่งผลิตตรงสู่ผู้บริโภคไว้แล้ว
ส่วนเนื้อหมูคาดว่าราคาจะสูงขึ้นเช่นกัน จากอากาศร้อนทำให้หมูโตช้า และการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในหมูในประเทศจีน เวียดนาม และลาว จึงทำให้ราคาหมูมีชีวิตในจีนปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 200 บาท เวียดนาม กก.ละ 120 บาท ขณะที่ไทยขณะนี้ยังอยู่ที่ไม่เกิน กก.ละ 75 บาท แต่กรมได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ว่า หากราคาเกินกว่า กก.ละ 80 บาท อาจมีมาตรการจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีเนื้อหมูบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ และราคาไม่สูงมากจนเกินไป
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำดื่มบรรจุขวดนั้น ยังอยู่ในภาวะปกติ โดยยังขายอยู่ที่ขวดละ 5-10 บาท และเชื่อว่าภัยแล้งจะไม่รุนแรงจนทำให้ขาดแคลนน้ำมาผลิตน้ำดื่ม และดันให้ราคาต้องขยับขึ้น เพราะขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะการขุดบ่อน้ำบาดาล การหาแหล่งน้ำใหม่ๆ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในคาดการณ์ว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเห็นว่า การดูแลราคาสินค้าเป็นมาตรการปลายน้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลจำเป็นต้องลงุทนในการพัฒนาวิจัยเทคโนโลยี ในการผลิตน้ำขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อม ให้สมกับเป็นยุคดิจิตัล ควบคู่ไปกับการจัดการแหล่งน้ำในระบบชลประทาน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน และที่สำคัญป้องกันเหลือบที่คอยหากินกับงบประมาณแก้ไขปัญหาภัยแล้ง