ทวี สุรฤทธิกุล
ร.5 ทรงสร้างประชาธิปไตยรากหญ้า
“ต้นโพ” คือความคิดที่จะพัฒนาบ้านเมือง แม้จะตั้งอยู่บน “หินหัก” คือความแตกแยกขัดแย้งของชนชั้นนำ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงย่อท้อที่จะพัฒนาบ้านเมืองไปตามแนวทางที่พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานนั้น นั่นก็คือ “ความทันสมัย” อันเป็นพระราชวิสัยทัศน์ที่สุดประเสริฐยิ่ง
สิ่งนี้เกิดจากการอบรมกล่อมเกลาที่ทรงได้รับมาส่วนหนึ่ง และเป็นอัจฉริยภาพเฉพาะพระองค์อีกส่วนหนึ่ง
ผู้เขียนขออ้างอิงทฤษฎีการอบรมกล่อมเกลาสักเล็กน้อย ในวิชาสังคมวิทยากล่าวไว้ว่า “บุคลิกภาพ” (Personality หรือ Character) ซึ่งก็คือ “ลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน” เป็นผลจากการอบรมกล่อมเกลา ซึ่งก็คือการเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) ที่เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือครอบครัว ร่วมกับการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยภายใต้สังคมที่รายรอบ ได้แก่ กลุ่มเพื่อน ครู โรงเรียน ที่ทำงาน กิจกรรม และกลุ่มสังคมต่างๆ แล้วสั่งสมเป็นประสบการณ์มาเป็นลำดับ แต่กระนั้นทุกคนก็เรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจาก “ความสามารถเฉพาะบุคคล” ที่เรียกว่า “พรสวรรค์” หรือ “อัจริยภาพ” นั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการเลี้ยงดูมาภายใต้ร่มเศวตฉัตร โดยพระราชบิดาที่ทรงมองเห็นการณ์ไกลและ “ติดแผ่นดิน” นั่นก็คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูและมีประสบการณ์ในการพัฒนาบ้านเมืองมาอย่างดี จึงควรที่คนไทยทุกคนจะได้ทราบถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นั้น ไว้ ณ ที่นี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้ามงกุฏ” ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อมีพระชนม์ได้ 14 พรรษาได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 7 เดือน ทรงมีความเลื่อมใสและสนใจในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนเมื่อมีพระชนม์ได้ 21 ก็ออกผนวชเป็นพระภิกษุ ระหว่างนั้นพระราชบิดาสวรรคต โดยมีได้ตั้งเจ้าฟ้าพระองค์ใดเป็นรัชทายาทสืบราชสมบัติ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงประชุมกัน แล้วเห็นพร้องให้เจ้าฟ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชเป็นรัชกาลที่ 3 สืบต่อ ด้วยเหตุนี้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏจึงอยู่ในสมณเพศอีก 27 ปี จนถึงวาระที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 สิ้นพระชนม์
ในระหว่างที่เจ้าฟ้ามงกุฏทรงอยู่ในสมณเพศได้ทรงศึกษาวิทยาการต่างๆ อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง นับเป็นคุณานุประโยชน์แก่ทั้งพระองค์เองและประเทศชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการที่พระองค์ได้เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ทอดพระเนตรเห็นทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร ซึ่งน่าจะได้ทำให้ทรงเห็นว่าประเทศไทยจะต้องพัฒนาอะไรในด้านใดบ้าง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการได้ “สัมผัส” กับผู้คนในระดับฐานรากของสังคม เป็นการเปลี่ยนโลกทัศน์ที่ทำให้เมื่อทรงขึ้นครองราชแล้วพระองค์ได้มีพระราชวิจารณาญาณในการแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างถูกจุด อันนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศไทยในสมัยต่อๆ มา
พระองค์ทรงขึ้นครองราชในวัย 48 พรรษา ในยุคที่ประเทศไทยกำลังถูกภัยคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตก 2 ชาติยักษ์ใหญ่คือ อังกฤษกับฝรั่งเศส แต่ด้วยพระราชวิสัยทัศน์ที่ยอมรับในความเปลี่ยนแปลง จึงได้เตรียมความพร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่ความเป็นตะวันตกนั้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าในการปรับปรุงพระราชประเพณีในสำนัก การศึกษาเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ การศึกษาภาษาอังกฤษ และการเตรียมบุคลากรนับตั้งแต่พระราชโอรส พระราชธิดา พระบรมวงศานุวงส์ ลงมากระทั่งขุนนางและลูกหลานของขุนนาง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น ถนนหนทาง คูคลอง และอาคารสถานที่ตามแบบตะวันตก ก็มีการสร้างขึ้นในรัชสมัยนี้มากมาย ไม่เฉพาะแต่ที่เมืองหลวง แต่รวมถึงเมืองใหญ่ๆ ทั่วราชอาณาจักร และหัวเมืองชายแดนต่างๆ ด้วย อันเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกมาใช้เป็นข้ออ้างได้ว่า ประเทศไทยนี้ล้าหลัง ป่าเถื่อน ที่เป็นเหตุผลให้ชาติฝรั่ง “หาเรื่อง” เข้ามายึดเป็นอาณานิคม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเจริญวัยมาภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้ เมื่อได้ทรงเห็นพระราชบิดาปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่าง เป็นการสร้างบรรยากาศของการอบรมกล่อมเกลาที่ล้ำเลิศ ดังจะเห็นได้จากการที่เมื่อทรงขึ้นครองราช แม้จะด้วยพระชันษาเพียง 15 ปี แต่ก็ทรงดำเนินตามพระราชจริยวัตรของพระราชบิดาได้อย่างเรียบร้อย นับตั้งแต่ที่ทรงให้ความเคารพกับบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ ให้ร่วมมือกันในการสนองพระราชกรณียกิจ ช่วยกันทำนุบำรุงประเทศชาติ ตามแนวที่จะทำให้ประเทศไทยมีความทันสมัย การให้เกียรติและยอมรับชาติตะวันตกด้วยพระปรีชาทางการทูตที่ไม่มีใครเสมอเหมือน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการวางพระองค์ลงให้ใกล้ชิดกับประชาชน ด้วยการเสด็จเข้าหาประชาชน และพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เหมือนดั่งเช่นครั้งที่พระราชบิดาได้ทรงกระทำไว้เป็นแบบอย่าง
นั่นคือการ “ปลูกผืนหญ้าคลุมหินหัก” ที่จะได้ขยายความต่อไป