ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วที่ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่ต้องยอมรับว่ามีอารยธรรมจีนโบราณ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งอารยธรรมยุคแรกเริ่มของโลก เจริญรุ่งเรืองในลุ่มแม่น้ำเหลืองอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งไหลผ่านที่ราบลุ่มจีนเหนือ จีนยึดระบบการเมืองแบบราชาธิปไตยหลายสหัสวรรษ จีนรวมกันเป็นปึกแผ่นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฉินเมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนราชวงศ์สุดท้าย “ราชวงศ์ชิง” สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1912 ด้วยการสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี๋ พร้อมกันกับการสถาปนาสาธารณรัฐจีนโดยพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคชาตินิยมจีน ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้น เป็นยุคสมัยแห่งความแตกแยกและสงครามกลางเมืองซึ่งแบ่งประเทศออกเป็นค่ายการเมืองสองค่ายหลักคือ “ก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์” ความเป็นปฏิปักษ์ส่วนใหญ่สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1949 เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมือง และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนสาธารณรัฐจีน ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของก๊กมินตั๋งนั้น ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังไทเปบนเกาะไต้หวัน นับแต่นั้นมา สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการเมือง กับสาธารณรัฐจีนเหนือปัญหาอธิปไตยและสถานะทางการเมืองของไต้หวัน ประเทศจีนมีอาณาเขตติดต่อกับ 14 ประเทศ มากกว่าประเทศอื่นใดในโลก (เท่ากับรัสเซีย) เรียงตามเข็มนาฬิกาได้แก่ ประเทศเวียดนาม ลาว พม่า อินเดีย ภูฏาน เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย มองโกเลีย และเกาหลีเหนือ นอกเหนือจากนี้ พรมแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสาธารณรัฐจีนตั้งอยู่ในน่านน้ำอาณาเขต ประเทศจีนมีพรมแดนทางบกยาว 22,117 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในโลก ดินแดนจีนตั้งอยู่ในลักษณะภูมิประเทศหลายแบบ ทางตะวันออก ตามแนวชายฝั่งที่ติดกับทะเลเหลืองและทะเลจีนตะวันออก เป็นที่ราบลุ่มตะกอนน้ำพาซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นและกว้างขวาง ขณะที่ตามชายขอบของที่ราบสูงมองโกเลียในทางตอนเหนือนั้นเป็นทุ่งหญ้า ตอนใต้ของจีนนั้นเป็นดินแดนหุบเขาและแนวเทือกเขาระดับต่ำเป็นจำนวนมาก ทางตอนกลาง-ตะวันตกนั้นเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของแม่น้ำสองสายหลักของจีน ได้แก่ แม่น้ำหวงและแม่น้ำแยงซี ส่วนแม่น้ำอื่นที่สำคัญของจีนได้แก่ แม่น้ำซี แม่น้ำโขง แม่น้ำพรหมบุตร และแม่น้ำอามูร์ ทางตะวันตกนั้น เป็นเทือกเขาสำคัญ ที่โดดเด่นคือ “เทือกเขาหิมาลัย” ซึ่งมีจุดสูงสุดของจีนอยู่ทางครึ่งตะวันออกของยอดเขาเอเวอร์เรสต์ และที่ราบสูงอยู่ท่ามกลางภูมิภาพแห้งแล้ง อย่างเช่น ทะเลทรายทาคลามากันและทะเลทรายโกบี ประเด็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของทะเลทราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลทรายโกบี ถึงแม้ว่าแนวต้นไม้กำบั้งซึ่งปลูกไว้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 จะช่วยลดความถี่ของการเกิดพายุทรายขึ้นได้ แต่ภัยแล้งที่ยาวนานขึ้นและวิธีการทางเกษตรกรรมที่เลวส่งผลทำให้เกิดพายุฝุ่นขึ้นทางตอนเหนือของจีนทุกฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นจึงแพร่กระจายต่อไปยังส่วนอื่นของเอเชียตะวันออก รวมทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ตามข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมจีน (SEPA) ประเทศจีนกำลังกลายสภาพเป็นทะเลทรายราว 4,000 กม. ต่อปี น้ำ การกัดเซาะ และการควบคุมมลพิษได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญในความสัมพันธ์ของจีนกับต่างประเทศ ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายในเทือกเขาหิมาลัยยังได้นำไปสู่การขาดแคลนน้ำในประชากรจีนนับหลายร้อยล้านคน ประเทศจีนมีสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นฤดูแล้งและฤดูมรสุมชื้น ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิในฤดูหนาวและฤดูร้อน ในฤดูหนาว ลมทางเหนือซึ่งพัดลงมาจากละติจูดสูงทำให้เกิดความหนาวเย็นและแห้งแล้ง ขณะที่ในฤดูร้อน ลมทางใต้ซึ่งพัดมาจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ละติจูดต่ำจะอบอุ่นและชุ่มชื้น ลักษณะภูมิอากาศในจีนแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากภูมิลักษณ์อันกว้างขวางและซับซ้อนของประเทศ แผนเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า “นโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่” ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ล้านคน ใน พ.ศ. 2509 เหมาและพันธมิตรทางการเมืองได้เริ่ม “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” ซึ่งกินเวลาจนกระทั่งเหมาถึงแก่อสัญกรรมในอีกหนึ่งทศวรรษถัดมา “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคและความกลัวสหภาพโซเวียต นำไปสู่ความวุ่นวายครั้งใหญ่ในสังคมจีน ใน พ.ศ. 2505 ช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเลวร้ายลงมากที่สุด เหมาและโจว เอินไหล พบกับริชาร์ด นิกสันในกรุงปักกิ่งเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ในปีเดียวกันนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติแทนที่สาธารณรัฐจีน และเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หลังจากเหมาถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2519 และการจับกุมตัว “แก๊งออฟโฟร์” ซึ่งถูกประณามว่าเป็นผู้ที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม “เติ้ง เสี่ยวผิง”ได้แย่งชิงอำนาจจากทายาททางการเมืองที่เหมาวางตัวไว้ หัว กั๋วเฟิง อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นประธานพรรคหรือประมุขแห่งรัฐ ในทางปฏิบัติแล้ว เติ้งเป็นผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานั้น อิทธิพลของเขาภายในพรรคนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ โดย “นโยบาย 4 ทันสมัย” หลังจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้ผ่อนปรนการควบคุมเหนือชีวิตประจำวันของพลเมืองและคอมมูนถูกยุบโดยชาวนาจำนวนมากได้รับที่ดินเช่า ซึ่งได้เป็นการเพิ่มสิ่งจูงใจและผลผลิตทางเกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง เหตุการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงจีนจากระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งมีสภาพเป็นตลาดเปิดเพิ่มมากขึ้น หรือที่บางคนเรียกว่า "ตลาดสังคมนิยม" และพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เรียกมันอย่างเป็นทางการว่า "สังคมนิยมที่เป็นลักษณะเฉพาะของจีน" สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ในปี พ.ศ. 2532 การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทางการผู้สนับสนุนการปฏิรูป หู ย่าวปัง เป็นการจุดชนวนการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 อย่างไรก็ตาม การชุมนุมดังกล่าวถูกปราบปรามลงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การประณามและการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลจีน เอาไว้ว่ากันต่อสัปดาห์หน้า!