เข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีหนูทอง ที่ประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน เริ่มตระเตรียมจับจ่ายใช้สอยเครื่องเซ่นไหว้ ทำความสะอาดบ้านเรือนต่างๆ และวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวกันแล้ว ขณะที่บรรดาห้างร้านต่างๆ ผู้ประกอบการได้จัดแคมเปญออกมากระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคกันอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ยังไม่มีการพิจารณาขยายมาตรการ "ชิม ช้อป ใช้" เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค.นี้ เนื่องจากนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดภารกิจเดินทางไปร่วมประชุม Asian Financial Forum ครั้งที่ 13 ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งต้องจับตาดูว่าในการประชุมครม.วันที่ 21 มกราคมนี้จะมีวาระในการพิจารณามาตรการดังกล่าวหรือไม่
ซึ่งแนวทางที่คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาคือ จะเพิ่มเงื่อนไขให้โมเดิร์นเทรดเข้าร่วมโครงการได้ เพื่อสนับสนุนกลุ่มค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถซื้อสินค้าได้ทุกชนิด รวมถึงสุราและบุหรี่ ยกเว้นอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง อาทิ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทค จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยมีวงเงินงบประมาณ 1 หมื่น 9 พันล้านบาท
กระนั้น ข้อมูลจาก นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ระบุว่า ภาพรวมกำลังซื้อยังซึม พฤติกรรมการใช้จ่ายล่วงหน้าก่อนวันไหว้ลดลงมาก ขณะที่ราคาสินค้าจากผู้ผลิตถึงร้านค้ารายย่อย (โชวห่วย) มีการทยอยแจ้งปรับขึ้นราคาขายส่งแล้ว อาทิ น้ำมันปาล์มบรรจุขวด (1ลิตร) ราคาจากโรงงานปรับเป็น 42 บาทซึ่งเป็นเพดานสูงสุดของราคาแนะนำที่แจ้งไว้กับกรมการค้าภายใน จึงเป็นเหตุให้น้ำมันพืชบรรจุขวดลิตรอื่นๆ เริ่มขอปรับราคาแล้ว ทั้งน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว ขณะที่กลุ่มเครื่องปรุงอาหารแจ้งขอปรับราคาขายส่งแล้ว ทั้งน้ำปลา ซีอิ้ว น้ำจิ้มพร้อมทาน ข้าวสารถุง (หอมมะลิ/ข้าวเหนียว) เป็นต้น แต่ในส่วนของน้ำดื่ม (เปล่า) บรรจุขวดส่วนใหญ่คงขายราคาเดิมและปริมาณการจำหน่ายยังปกติไม่มีการตื่นซื้อตุนจากเหตุกังวลเรื่องน้ำเค็มและแล้ง
พร้อมกันนี้ ยังแนะให้จับตา การปรับลดปริมาณหรือน้ำหนักบรรจุ แต่ขายในราคาเดิม โดยอาศัยช่องโหว่ที่รัฐไม่ได้ควบคุมการออกสินค้าใหม่หรือการตั้งราคาจากสินค้าใหม่ เช่น เคยบรรจุขนาด 500 กรัม ลดเหลือ 300-350 กรัมแต่ใส่ถุงขนาดเดิมราคาเดิม ทำให้ประชาชนยังเข้าใจว่าปริมาณเท่าเดิม เชื่อว่ารัฐบาลก็กำลังติดตามเรื่องนี้
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 3,150 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยให้น้ำหนักกับภาวะกำลังซื้อที่ไม่เอื้อเหมือนเช่นปีก่อนๆ ส่งผลให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่มีลำดับความสำคัญน้อย และสามารถปรับลดลงได้ จะมีสัดส่วนการหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง และมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเม็ดเงินค่าใช้จ่ายรวม ได้แก่ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ ซึ่งนอกจากผลทางด้านกำลังซื้อแล้ว บางส่วนยังเพิ่งทำกิจกรรมนี้ไปเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ขณะที่เม็ดเงินการแจกแต๊ะเอีย ซึ่งปรับลดลงทั้งในส่วนของจำนวนคนที่ให้และจำนวนเงินเฉลี่ยต่อคน คาดว่าจะกระทบต่อความคึกคักของธุรกิจที่พึ่งเม็ดเงินส่วนนี้ อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านทอง สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมหลักของเทศกาล ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถูกตัดทอนลงจนเหลือเท่าที่จำเป็นแล้ว
จากผลสำรวจที่เกิดขึ้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่าเม็ดเงินค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 ของคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยแยกเป็นเม็ดเงินที่เกี่ยวกับเครื่องเซ่นไหว้ 5,900 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ 3,750 ล้านบาท และเงินค่าแต๊ะเอีย 3,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์โดยภาพรวมจะไม่คึกคักนัก แต่ก็คาดหวังมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้”มาช่วยกระตุ้น ให้ตรุษจีนปีนี้ไม่ซึม