“ครู คือ ปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ครู คือ มนุษย์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนที่จะพัฒนาคุณลักษณะของตนเองและสร้างค่านิยมต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ สามารถมาแทนที่ครูได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว นั่นคือว่าทำไมครูที่ดีจึงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ได้ ด้วยการพัฒนาพวกเขาให้เป็นพลเมืองที่ดีและมีความสามารถ ทั้งในระดับชาติและระดับเป็นพลเมืองของโลกด้วย”พระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562
ในทุกๆปีที่วันครูแห่งชาติ คือวันที่ 16 มกราคม เวียนมาบรรจบ ประเด็นที่สังคมมักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงนอกจากการระลึกถึงพระคุณของครูแล้ว ก็คือ เรื่องของการยกระดับคุณภาพชีวิตของครู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของค่าตอบแทน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ หรือหนี้สินครู
ทั้งนี้เนื่องจาก อาชีพครู นั้น ได้รับการคาดหวังให้เป็นแบบอย่างที่ดี เปรียบเป็น “แม่พิมพ์แห่งชาติ” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง ถึงการสร้างผลงานที่ดีจะต้องมีแม่แบบหรือแม่พิมพ์ที่ดี ในที่นี้ไม่ใช่การสร้างวัตถุ หากแต่เป็นการสร้างคนให้มีคุณภาพ ด้วยอาชีพครู ให้การเรียนรู้ เพื่อการดำเนินชีวิตที่รับช่วงต่อมาจากครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง
ดังนั้น การจะสอนให้นักเรียน นักศึกษา เป็นคนดี มีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติได้ ครู จะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ทั้งในการปฏิบัติงานสอน งานส่งเสริมองค์กร การดำเนินชีวิตประจำวันและเรื่องของคุณธรรม ไม่แตกต่างจาก พระสงฆ์ทีเดียว จะเห็นได้ว่า ในอดีตเมื่อมีข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับครูที่เข้าไปเกี่ยวพัน จะได้รับกระแสกดดันจากสังคมค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ โดยณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่ากา ได้มีแนวคิดเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตครูให้ดีขึ้น โดยระบุว่า อาจต้องมีหน่วยงานระดับจังหวัดขึ้นมาดูแลบริหารจัดการหนี้สินครูเป็นการเฉพาะ คงปล่อยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)จัดการเรื่องนี้เพียงลำพังคงไม่ได้แล้ว
“ครูเองก็ต้องเพิ่มทักษะการเรียนรู้ในโลกศตวรรษที่ 21 ด้วย ซึ่งตนกังวลเรื่องทักษะความสามารถด้านการสอนคอมพิวเตอร์ นวัตกรรม และเอไอของครู เพราะหากไม่มีครูที่เชี่ยวชาญจะไม่สามารถกระจายความรู้เรื่องเทคโนโลยีให้เด็กได้ จึงต้องผลิตครูด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยไม่กล้าแสดงออก ไม่มีความเป็นผู้นำเท่าที่ควร ดังนั้น ขอให้ สพฐ.ไปคิดหลักสูตรใหม่ที่จะทำอย่างไรจึงจะดึงศักยภาพเด็กไทยให้มีความกล้ามากขึ้น”
เราคาดหวังว่า ทุกฝ่ายจะให้ความสำคัญในการปลดล็อก ปัญหาคุณภาพชีวิตครูอย่างจริงจัง และเป็นผลสำเร็จ เพื่อให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศมีคุณภาพ และเท่าทันโลก
ทั้งนี้ ทั้งนั้น นอกจากการยกระดับคุณภาพชีวิตแล้ว ในเรื่องของ “จิตใจ” เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะต้องมีระบบในการคัดเลือกครู ที่มีความอยากเป็นครูด้วยหัวใจ มีความมุ่งมั่นเป้าหมายในการสร้างคนอย่างแท้จริง มีความรักในอาชีพ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ ซึ่งจะต้องสร้างเบ้าหลอมนี้ ตั้งแต่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย