“ผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใครเลย ใครจะเชียร์ จะไล่ จะอะไร ผมไม่ใช่ศัตรูพวกท่าน แต่ทุกคนจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า ดีกว่ามาเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้มากนัก แต่ก็เคารพความคิดของทุกคน”
“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวให้โอวาทแก่เด็กและเยาวชน ในระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดตัวโครงการยุวชนสร้างชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ม.ค.63 ที่ผ่านมา
หากถอดรหัสในคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาจะพบว่านอกจากจะไม่ “ต่อความยาวสาวความยืด” ขยายผลในจังหวะที่การเมืองกำลังถูกทำให้ “ระอุ”ด้วยการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหนนอกสภาฯ โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ไม่เอา “นายกฯลุงตู่” ที่เพิ่งจัดงาน “วิ่ง ไล่ ลุง” จบลงไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค.63 ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งวิ่งไล่ลุงปะทะกับ “เดินเชียร์ลุง”
ด้วยหวังว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุง จะกลายเป็นอีเว้นท์ที่สร้างความหนักใจ ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ให้ตระหนักว่าการเมืองนอกสภาฯ ที่เตรียมเปิดขบวนขับไล่รัฐบาลบนท้องถนนนั้นคือ “อาวุธ” ที่มีแสนยานุภาพมากกว่าที่จะหวังไป “โค่น”รัฐบาลกันที่ในสภาฯ
แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีออกมาในแนวทางที่เลือก “ไม่ตอบโต้” เพื่อลดแรงปะทะอย่างที่เห็น จึงยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้าม ต้องอยู่ในสภาพ “ชกลม” ชวนเสียอารมณ์ไม่น้อย
นอกจากนี้ ยังน่าสนใจว่า “บิ๊กเนม” หลายคนในรัฐบาลต่างพร้อมใจกันเล่นในบทบาทที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือการไม่สานต่อ เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับ อีเว้นท์การเมืองนอกสภาฯ
อย่างไรก็ดี แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่แสดงออกว่ารู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ต่อการเคลื่อนไหว “วิ่งไล่ลุง” ที่ประกาศ นัดหมายวิ่งต่อภาค 2 ในวันที่ 2ก.พ.63 ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่า “ฝ่ายความมั่นคง” ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร จะไม่ต้องขยับหาข่าว หรือเตรียมรับมือ ไปจนถึงการ สกัดตัดตอน ไม่ให้เกิด “ความรุนแรง” ขึ้นในระหว่างการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นงานวิ่งไล่ลุง หรือเดินเชียร์ลุงก็ตามที
การเลือกเล่นในสนามการเมือง ของพล.อ.ประยุทธ์ในเวลานี้นั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ผู้นำรัฐบาลช่วยเติมฟืนเข้าไปในกองไฟ เสียเอง จนในที่สุดปัญหาการเมืองจะลุกลาม ส่งผลกระทบต่อการบริหารนโยบายรัฐบาลที่วันนี้ยังถือเป็น “ปัญหาใหญ่” ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งแก้ไข ทำผลงานให้ปรากฎ
โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่รุมเร้ารัฐบาล กดดันอย่างหนักหน่วง มากกว่าประเด็นทางการเมือง และหากในทางกลับกัน ถ้ารัฐบาลสามารถสร้างผลงาน ออกมาตรการต่างๆเพื่อให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ คลี่คลายสถานการณ์เศรษฐกิจ ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้แล้ว โอกาสที่ “การเมืองนอกสภาฯ” จะรุกไล่ รัฐบาล ของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูจะเป็นไปได้ยาก
การรบราวุ่นวายกับสถานการณ์ทางการเมืองในจังหวะที่รัฐบาลเองมี “เรื่องใหญ่” ต้องเผชิญหน้านั้นอาจถือเป็น “จุดอ่อน” ทำลาย “จุดแข็ง” ที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ อย่างน่าเสียดาย
และยิ่งเมื่อ ฝั่งตรงข้ามประเมินแล้วว่า จุดแข็งของรัฐบาลนั้นอยู่ที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังมีคะแนนนิยมมากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆในครม.จึงเท่ากับว่า ตัวบิ๊กตู่เองก็ย่อมเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในคราวเดียวกัน ดังนั้นการเลือกเล่นในสนามที่ไม่เกิดประโยชน์ จึงไม่มีทางที่จะส่งผลในทางที่เป็นบวก แต่อย่างใด ?