สถานการณ์ภัยแล้งเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งน้ำแล้ง และน้ำท่วม โดยในปีนี้ภัยแล้งมาเร็ว ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้งแล้ว 16 จังหวัด รวม 80 อำเภอ 464 ตำบล 4,117 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ รวม 23 อำเภอ 127 ตำบล 980 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา รวม 31 อำเภอ 215 ตำบล 2,151 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์ รวม 26 อำเภอ 122 ตำบล 966 หมู่บ้าน ปัญหาจึงอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะทำอย่างไร เรื่องนี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่าน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค มีความสำคัญอันดับแรกจึงต้องเร่งดำเนินการเป็นการด่วน ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด ซึ่งสทนช.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อสำรวจความพร้อมของหน่วยงานดำเนินการป้องกันปัญหาพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ทั้งการปรับแผนจากงบปกติ คือ งบประมาณประจำปี 2563มาเร่งดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำรุนแรงก่อนเป็นอันดับแรก โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะ 1-2 เดือนนี้ เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำสำรองให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวม 1,337 โครงการ วงเงิน 2,950 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและงบประมาณปกติไม่เพียงพอ สทนช.ได้วิเคราะห์รวบรวมแผนงานโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่มีความซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนงานปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยระยะเร่งด่วนจะเน้นพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภคทั้งในเขตและนอกเขตการประปา รวม 2,041 โครงการ วงเงิน 3,079 ล้านบาท แบ่งเป็น ในเขตพื้นที่บริการการประปา 50 โครงการ วงเงิน 1,159 ล้านบาท ดำเนินการโดยการประปาส่วนภูมิภาค พื้นที่นอกเขตจำนวน 1,991 โครงการ วงเงิน 1,920 ล้านบาท ดำเนินการโดย 4 หน่วยงาน ได้แก่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาล เชื่อมโยงแหล่งน้ำผิวดิน เป็นต้น ทั้งนี้ ในแผนดังกล่าวได้ครอบคลุมสถานพยาบาลนอกเขตการประปาที่ต้องมีพร้อมให้บริการคนไข้ด้วยแล้ว ซึ่งมีจำนวน 7 โครงการ วงเงินประมาณ 24 ล้านบาท เนื่องจากโรงพยาบาล เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลหลังจากเผชิญปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งที่กระทบต่อการเข้าถึงน้ำสำหรับคนไข้ น่าจะเป็นครั้งแรกที่การประปาของสถานพยาบาลได้รับการจัดลำดับอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคอย่างเป็นระบบและ ต่อเนื่องที่สุด “สำหรับเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาโครงการเร่งด่วนเหล่านี้ คือต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เป็นรูปธรรมไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะเดือดร้อนไม่มีน้ำอุปโภคบริโภคทันท่วงที” อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังทรงตัวเช่นนี้ ปัญหาภัยแล้งเป็นอีกปัจจัยซ้ำเติมเศรษฐกิจ อันเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องรับมือและบริหารจัดการไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไปกว่านี้