กิจกรรมใหญ่ทางการเมืองที่ได้นัดหมายกันมาก่อนหน้านี้ ทั้ง "ม็อบวิ่งไล่ลุง" และ "ม็อบวิ่งเชียร์ลุง" ได้เสร็จสิ้นลงไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายที่ "ชอบ"และ "ชัง" ผู้นำที่ชื่อ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าของรหัส "สนามไชย 1" ต่างจัดงานแสดงพลัง โชว์ศักยภาพของฝ่ายตัวเองกันไปแล้ว
ด้านหนึ่งต่างฝ่ายต่างย่อมประจักษ์แล้วว่า ในสังคมวันนี้ มีความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองกันอย่างไรบ้าง
และในขณะเดียวกันยังต้องยอมรับด้วยว่าวันนี้ "ความขัดแย้ง" ของอุดมการณ์ทางการเมือง ของคนแต่ละกลุ่มแต่ละขั้ว นั้นยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ เปลี่ยนตัว "ผู้เล่น" สำหรับขั้วที่ประกาศเป็น ปรปักษ์ ไม่เอา บิ๊กตู่ จากเดิมที่เคยเป็น คนของพรรคเพื่อไทยที่ต้อง "สู้แทน" คนในครอบครัว "ชินวัตร" มาเป็น "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
สำหรับพรรคอนาคตใหม่นั้น แน่นอนว่าการต่อสู้แม้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในรูปแบบการเมืองในสภาฯ ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหว "นอกสภาฯ" ขยับขับไล่ "นายกฯลุงตู่" แต่ทว่าทั้งหัวหน้าพรรค และพรรคต่างอยู่ในภาวะที่ต้องจำใจ "นับถอยหลัง" ด้วยเหตุที่มี "คดีความ" ที่พาทุกคนเข้าสู่ "คิลลิ่ง โซน" แดนสังหารถึงขั้น "ยุบพรรค" ตายกันยกรัง !
แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐ เองแม้จะอยู่ในสถานะที่มี "แต้มต่อ" ในฐานะ "พรรคแกนนำรัฐบาล" ก็ใช่ว่า จะไม่ต้องเผชิญหน้ากับความกดดัน เพราะอย่าลืมว่าพรรคพลังประชารัฐ มีหน้าที่เป็นเสมือน "นั่งร้าน" ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลสามารถเดินหน้าบริหารนโยบายไปได้อย่างราบรื่นมากที่สุด
ทั้งการรับมือกับเกมการเมืองในสภาฯ ขนานไปกับการ "แก้เกม" นอกสภาฯ ซึ่งมีพรรคอนาคตใหม่เป็นหัวหอกใหญ่ ตลอดจนพรรคพลังประชารัฐยังจะต้อง เดินหน้าลุย "การเมืองสนามเล็ก" ที่ไม่ธรรมดา ให้ฝ่ายตนเองยึดหัวหาดได้ทั้งกระดาน
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น อันมีความสำคัญต่อรัฐบาลทั้งในทางการเมือง และการสร้าง "เครือข่าย"เพื่อรองรับและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในคราวเดียวกัน รวมถึงการเพ่งมองไปยังการเมืองสนามกทม. ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ทำอย่างไรพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจน "พันธมิตรแนวร่วม" จะเอาชนะได้ทุกสนามอย่างเบ็ดเสร็จ !
ศึกในสภาฯที่ว่าร้อน ก็ถือเป็น "ฉากหนึ่ง" ที่ต้องรับมือ แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่จะมีขึ้นตลอดทั้งปีนี้ 2563 คือสนามประลองที่พรรคพลังประชารัฐ จะต้องเจอกับ "คู่แข่ง" จากพรรคการเมือง ที่ "ร่วมรัฐบาล"ด้วยกันเอง ซึ่งหวังแจ้งเกิดและยึดหัวหาดไม่ต่างกัน
การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ถือเป็นอีกหนึ่งจุดโฟกัสที่พรรคพลังประชารัฐ ต้องประเมินทางหนีทีไล่ ด้วยกันหลายทาง ว่า หนึ่ง พรรคจะส่ง "ตัวแทน" ลงไปลุยสนามกทม.ด้วยตัวเอง หรือจะใช้ยุทธวิธี "สกัด" คู่แข่งทั้งจากพรรคตรงข้ามรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล
อย่างไรก็ดี การประเมินศึกเลือกตั้งในสนามกทม. อาจจะเป็นอย่างที่ "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ บอกกับสื่อล่าสุดเองว่า คณะกรรมการบริหารพรรค กำลังหารือกันการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ทั้งการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ในอีก 2จังหวัด คือกำแพงเพชรและสมุทรปราการ รวมถึงการหารือกันถึงการสรรหาบุคคลลงสมัครับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และไม่ว่าจะเปิดตัวช้า หรือเร็ว ก็ย่อมมีผลดีด้วยกันทั้งสิ้น
แต่ที่แน่ๆ น่าสนใจว่า สนามเลือกตั้งกทม. นั้นมีรายงานว่า เหตุที่ "บิ๊กเนม" ในพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ต้องการ "ขยับ" อะไรมากไปกว่านี้ เพราะหวั่นเกรง "แรงกระเพื่อม" จากกลุ่มการเมือง ขั้วต่างๆภายในพรรคด้วยกันเองที่หมายตา จะส่ง "มือดี" ของตัวเองลงมาสู้กันเอง ต่างหาก !