ทวี สุรฤทธิกุล
ผู้ทรยศต่อ “สัญญาประชาคม” ย่อมมีอันเป็นไป
ประเทศไทยดูเหมือนจะมีทางเลือกไม่มากนักในการมองหาผู้นำที่จะมาปกครองประเทศให้เป็นที่พอใจ ตั้งแต่ที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาใน พ.ศ. 2475 ก็ล้วนแต่เป็นผู้นำที่สร้างความผิดหวังให้แก่คนไทยมาโดยตลอด แม้บางคนจะดูดีในตอนต้น แต่เมื่อปกครองนานๆ ไป(หรือบางทีก็ไม่นานนัก)ก็แย่ลงๆ เหมือนว่าสังคมไทยเป็น “คนขี้เบื่อ” หรือ “กบเลือกนาย” กระนั้น
ถ้าจะโทษคนไทยว่าเป็นคนเบื่อง่าย ก็น่าจะเป็นการกล่าวหาแต่เพียงด้านเดียว เพราะอีกด้านหนึ่งนั้นก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้นำนั้นด้วย เพราะถ้าจะมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ผู้นำนั่นแหละที่ “ไม่รักษาคำพูด” หรือ “ทำไม่ได้อย่างที่พูด” ทำให้ประชาชนผิดหวัง ตามมาด้วยความรู้สึกเบื่อหน่าย ที่สุดก็นำไปสู่ความเกลียดชัง และหลายครั้งก็จบด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือการเปลี่ยนผู้นำคนนั้นๆ นั่นเอง
คณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ให้สัญญาประชาคมกับประชาชนว่า “จะนำโลกพระศรีอาริย์มาสู่สังคมไทย” ดังที่ปรากฏอยู่ในประกาศของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 โดยได้กล่าวโจมตีพระมหากษัตริย์ว่าได้สร้างความเสียหายแก่สังคมไทยมากมายเพียงไร แล้วอวดอ้างว่าพวกตนจะมาสร้างสังคมใหม่ สังคมที่ไม่มีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ทุกคนจะเสมอภาคกัน มีอยู่มีกินไม่อดอยาก พร้อมกับการจัดทำ “สมุดปกเหลือง” ว่าด้วย “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ที่จะพัฒนาประเทศไปในแนวทางดังกล่าว ที่มีการท้วงติงกันในสมัยนั้นว่าเป็นแนวทางของ “คอมมิวนิสต์” อันนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ซึ่งว่ากันว่าเป็นมูลเหตุหนึ่งในการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2477
ในช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจอยู่ก็มีปัญหาความขัดแย้งในหมู่ผู้นำของคณะราษฎรนั้นมากมาย โดยเฉพาะระหว่างผู้นำฝ่ายพลเรือนที่นำโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม กับผู้นำฝ่ายทหารคือหลวงพิบูลสงคราม จนมาแตกหักในเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2490 แล้วทหารก็ครองอำนาจมาอย่างเบ็ดเสร็จ (ระหว่างนั้นก็มีการเลือกตั้งอยู่ 2-3 ครั้ง แต่เป็นไปภายใต้การกำกับของทหารและมีอายุรัฐฐาลเพียงสั้นๆ)จนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาได้ออกมาเดินขบวนขับไล่ แล้วนักการเมืองจากการเลือกตั้งก็มามีอำนาจอยู่เพียงปีเศษๆ ทหารก็ทวงอำนาจคืนมาได้อีกในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วทหารก็เร่งคืนอำนาจให้มีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2522 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่คุ้มครองอำนาจของทหารไว้ ซึ่งใช้มาได้จนถึง พ.ศ. 2534 ที่ทหารได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง แต่เมื่อทหารจะสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2535 ประชาชนร่วมกับนักการเมืองที่ก็เคยเป็นกลุ่มของอดีตผู้นำเหล่าทัพได้ออกมาต่อต้าน อันนำมาซึ่งการจลาจลกลางกรุงเทพฯอยู่เกือบหนึ่งสัปดาห์ในตอนกลางเดือนพฤษภาคมปีนั้น จากนั้นประชาชนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง อันทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปี 2544 ได้มีการโกงกินอย่างมโหฬาร ผ่านอภิมหาโปรเจ็คและนโยบายประชานิยมต่างๆ นำมาซึ่งการต่อต้านและขับไล่ ตามมาด้วยการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่บ้านเมืองก็ไม่สงบสุข จนทหารต้องออกมาทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
บรรดาผู้นำในยุคสมัยเหล่านั้นล้วน “มีอันเป็นไป” อย่างน่าเอน็จอนาถ คณะราษฎรเองนอกจากจะขัดแย้งกันจนไม่เหลืออุดมการณ์อะไรให้เห็นแล้ว บรรดาผู้นำก็มีอันเป็นไปต่างๆ นานา ที่เป็นแกนนำก็ต้องหนีภัยไปอยู่ต่างประเทศ บางคนถูกรถเมล์ชนเสียชีวิตข้างห้างสรรพสินค้ากลางกรุง ไม่ต่างกับชะตากรรมของผู้นำในเวลาต่อมาอีกหลายคนที่ก็ต้องระเห็จไปอยู่ต่างประเทศ บางคนถึงขนาดบวชเป็นเณรกลับมาก็ไม่รอดพ้นจากบาปเคราะห์ที่เคยทำนั้นได้ ทั้งยังทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนถึงขนาดเกิดจลาจลก็มี บางคนก็ยังไม่สิ้นฤทธิ์ ยังคอยสนับสนุนลิ่วล้อให้สร้างความปั่นป่วนมาจนถึงทุกวันนี้ บางคนเป็นโรคร้ายตายอย่างทุกข์ทรมาน บางคนแม้จะยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายทั้งเป็น เพราะสังคมยังสาปแช่งและไม่ลืมอดีตที่ผู้นำคนนั้นๆ ทำไว้
ผู้เขียนไม่ได้คิดที่จะสาปแช่งผู้นำคนใด เพียงแต่ยกอดีตมาเตือนสติผู้นำในปัจจุบัน เพราะอาจจะมีเวลาที่จะปรับตัวแก้ไขได้พอสมควร เช่นครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2531 ที่มี “โรคเบื่อป๋า” ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึงขนาดที่มีกลุ่มนักวิชาการได้ยื่นฎีกา (เรียกว่า “ฎีกา 99 นักวิชาการ” ซึ่งสามารถค้นหาอ่านได้จากวิกิพีเดีย) เพื่อที่จะได้รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้ไว้ ดังเหตุผลในฎีกาที่ว่า
“1.ความวุ่นวายสับสนในทางการเมือง ความเสื่อมในศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การแตกแยกสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการและประชาชน เนื่องจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนเกินความจำเป็น
2.หากประเทศชาติต้องการดำเนินตามครรลองประชาธิปไตย แบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงแล้ว การวางตนเป็นกลางของผู้นำทางการเมือง การยึดมั่นในความเป็นธรรม หลักการสันติวิธีในการปรับความเข้าใจและแก้ไขความขัดแย้ง การละเว้นวิธีการปลุกปั่นยุยงหมู่ชน จึงจะเป็นหนทางที่เหมาะสม ในการป้องกันสภาพการณ์ และสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา อีกทั้งจะเป็นบรรยากาศทางการเมือง ที่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและลักษณะของสังคมไทยด้วย”
พอดีพื้นที่หมด ขอไปนำเสนอรายละเอียดในสัปดาห์หน้า ว่าปราฏการณ์เบื่อลุงจะเป็นไปอย่างไร