เปิดศักราชใหม่ปี 2563 มีเหตุการณ์ระดับโลกที่ต้องจับตาคือวิกฤติในตะวันออกกลาง จากศึกระหว่างสหรัฐอเมริกา กับอิหร่านที่คาราคาซังมานาน กลับมาปะทุอีกครั้งหลังจากที่กองทัพสหรัฐเปิดฉากโจมตีทางอากาศจนทำให้ผู้บัญชาการทหารคนสำคัญ คือ นายพลกาเซ็ม โซเลมานี ของอิหร่านเสียชีวิต ทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกใส่ฐานทัพอากาศสหรัฐในอิรัก ผู้ส่งสินค้าทางเรือประเมินว่า เหตุการณ์โจมตีระหว่างสหรัฐกับอิหร่านกระทบกำลังซื้อประเทศคู่ค้า โดยถ้าเหตุการณ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านไม่ได้ขยายตัวเป็นวงกว้างก็จะกระทบส่งออกไม่มาก แต่ถ้าลุกลามออกไปก็จะกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าไทย และทำให้มูลค่าส่งออกจะหดตัวมากกว่าคาด ซึ่งต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุด 8 ม.ค.63 มีข่าวว่าอิหร่านยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกใส่ฐานทัพอากาศสหรัฐที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศอิรัก ทั้งนี้คาดว่าในปี 2563 อุปสงค์สินค้าส่งออกจะยังเติบโตไม่มาก เมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังต่ำ และเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางทำให้การส่งออกสินค้าไปตลาดนี้ยากลำบากมากขึ้น ส่วนต้นทุนด้านพลังงานและแรงงานของผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น และมีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ 5-6 บาท/วันเป็น 313-336 บาท/วันทั่วประเทศ เริ่ม 1 มกราคม 2563 ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า สถานการณ์ความขัดแย้ง ระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในแต่ละปี และระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงพลังงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ โดยสถานการณ์นี้กระทบค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาค และส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้มองว่า เป็นโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมในการบริหารน้ำมันสำรองให้เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่ากระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แม้ว่าภาพรวมเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยไม่ได้เปราะบาง แต่มูลค่านำเข้าที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง อย่างไรก็ตามการที่ไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ มีข้อดีคือทำให้สามารถนำเข้าพลังงานได้เพิ่มมากขึ้นหากเกิดความไม่แน่นอนของตลาดพลังงานในอนาคต ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มมองว่า เงินบาทไม่ได้เป็น Safe Haven แล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรยังอยู่ระดับต่ำ รวมทั้งการที่ไทยยังพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ซึ่งหากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านมีมากขึ้นจะยิ่งกระทบกับแหล่งรายได้ต่างประเทศที่สำคัญของไทย พร้อมมองว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และยังดำเนินแนวทางนโยบายการเงินตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดย ธปท.ยืนยันว่าการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะยึดหลัก Data Dependent โดยจะประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา และดูความเสี่ยงในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจต่างไปจากที่ ธปท.ได้ประเมินไว้ ก็พร้อมจะใช้เครื่องมือด้านนโยบายเพิ่มเติม เมื่อสถานการณ์โลกยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะหากสถานการณ์เลวร้ายลุกลามย่อมแพร่กระจายไปทั่วโลกไม่ต่างเชื้อไข้หวัด แม้ไทยจะไม่ควรตื่นตระหนก แต่ก็ต้องตื่นตัวเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่สำคัญคือเศรษฐกิจภายในต้องเข้มแข็ง เพื่อรับมือกับแรงเสียดทานจากภายนอก