ณรงค์ ใจหาญ
การสอบสวนคดีอาญา นับเป็นขั้นตอนสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญา ซึ่งกฎหมายไทยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบในการรวบรวมพยานหลักฐานในขั้นตอนนี้เป็นหลัก และเมื่อมีการรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ก็จะส่งเรื่องให้กับพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสำนวนการสอบสวนและทำคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือสั่งสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป ในอดีตที่ผ่านมา การสอบสวนได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในหลายๆ คดี พนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่ในขณะเดียวกันมีคดีจำนวนไม่น้อยที่ไม่อาจได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ หรือในบางคดีกลับได้ผู้ไม่ได้กระทำผิดมาลงโทษ เพราะจับผิดตัวหรือมีการบังคับให้รับสารภาพอันทำให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล และผู้บริสุทธิ์ต้องถูกดำเนินคดีอาญาโดยผิดหลง
ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันจึงได้มีข้อกังวลถึงประสิทธิภาพของการสอบสวนทั้งระบบ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการสอบสวนของไทยให้ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการสอบสวนจะต้องสามารถดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการให้มีประสิทธิภาพด้วย
แนวคิดในการปรับปรุงระบบงานสอบสวนได้มีการศึกษาและวิเคราะห์กันมาอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นนักวิชาการ ผู้ที่เป็นผู้บริหารของตำรวจ หรือคณะกรรมาธิการของรัฐสภา และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย และมีหลายรูปแบบ ทั้งนี้เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ระบบการสอบสวนที่ดำเนินการอยู่ แม้จะใช้มาเป็นเวลานานและมีแนวคิดในการแยกการสอบสวนออกจากการสั่งฟ้อง โดยให้ตำรวจทำหน้าที่จับกุม และสอบสวน ในขณะที่พนักงานอัยการทำหน้าที่ในการสั่งฟ้อง และสั่งสอบสวนเพิ่มเติมและดำเนินคดีอาญา ซึ่งการแยกหน้าที่กันชัดเจนนี้จึงเกิดปัญหาการประสานงาน และการเป็นหนึ่งในการสอบสวนและสั่งคดี จนทำให้ผู้รวบรวมพยานหลักฐานไม่เห็นว่าพยานดังกล่าวจะใช้ได้ในชั้นพิจารณาหรือไม่ และในขณะเดียวกัน พนักงานอัยการไม่ได้พบกับพยานบุคคลก่อนที่จะนำสืบในศาล ความไม่เชื่อมโยงนี้ จึงเป็นอุปสรรคที่ต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้มีการประสานงานระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนก่อนที่จะส่งสำนวนมาที่พนักงานอัยการ โดยเฉพาะคดีที่สำคัญและมีความซับซ้อน ประเด็นนี้เป็นข้อสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงมาตรการในการทางกฎหมายให้ประสานงานกันมากยิ่งขึ้นเพื่อผลในการรวบรวมพยานหลักฐานที่มีประสิทธิภาพ
ในด้านการบริหารงานบุคคล และการใช้เทคโนโลยีในชั้นสอบสวน ก็มีส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาปรับปรุง จะเห็นได้ว่า การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องได้รับหลักประกันที่เท่าเทียมกับข้าราชการตุลาการ และข้าราชการอัยการ กล่าวคือ การเลื่อนระดับ และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ จะต้องอยู่ภายใต้ระบบคุณธรรม ความสามารถ ประสบการณ์และ ปราศจากการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งหรือปราศจากอิทธิพลจากภายนอก กล่าวโดยเฉพาะ ต้องปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง และผู้มีอิทธิพลอื่นๆ ข้อนี้หากมีหลักประกันได้ในการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจแล้ว จะทำให้คนที่เข้ามาทำงานในหน้าที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสืบสวนได้มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานโดยการวัดผลงานมากกว่าการใช้วิธีการอื่น จะทำให้คนที่ทำงานมีขวัญและกำลังใจ และทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นหลัก
การใช้เทคโนโลยีในการสืบสวนสอบสวน รัฐควรให้ความสำคัญ และจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อให้แก่พนักงานสอบสวน เช่นเดียวกับการสอบสวนในคดีอื่นๆ เช่นกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น รวมทั้งให้พนักงานสอบสวนมีงบประมาณในการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้องวงจรปิด คอมพิวเตอร์ที่ใช้ใสการพิมพ์คำให้การ โทรศัพท์ติดต่อ ปืนที่ใช้ในการป้องกันตัว เป็นต้น ต้องมีงบประมาณที่จัดซื้อให้เพียงพอและทันสมัย มิฉะนั้น หากต้องจัดหากันเอง ก็จะทำให้ต้องหารายได้อื่นในการจัดซื้อ อันเป็นเหตุให้ต้องไปพึ่งพาบุคคลภายนอกให้มาสนับสนุน และทำให้เกิดความเกรงใจหากต้องมีคดีที่เกี่ยวพันกับผู้ให้การสนับสนุน
เป็นที่ทราบกันว่า บุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีจำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า งบประมาณที่จ่ายให้เป็นเงินเดือนแก่บุคลากรในระดับชั้นผู้น้อยนั้นไม่เพียงพอต่อการยังชีพ และเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุให้ข้าราชการเหล่านี้อาศัยอำนาจจับหรือค้นที่มีอยู่เพื่อหาประโยชน์หรือละเว้นไม่ปฏิบัติการตามหน้าทีด้วยเหตุนี้ การปรับปรุงเงินเดือนของข้าราชการตำรวจทั้งระบบเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรี และคุณธรรม คงต้องเทียบเคียงกับผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในระดับเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างระหว่างพนักงานสอบสวนของคดีทุจริต คดีสอบสวนคดีพิเศษ และคดียาเสพติด จึงควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้มีอัตราค่าตอบแทนในระดับเดียวกัน
ในประเด็นสุดท้าย แม้ว่าจะมีการปรับปรุงทั้งการประสานงาน บุคลากร ค่าตอบแทน เทคโนโลยีแล้ว ระบบการตรวจสอบการสอบสวนจากองค์กรภายนอก เช่น ศาล อัยการ หรือคณะกรรมการตำรวจจังหวัด ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง และประชาชนเลือกมานั้นควรมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ ประเมินผลการทำงาน และสามารถให้คุณให้โทษแก่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดีและไม่ดีได้ กระบวนการเช่นนี้ หากมีกลไกที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพก็จะทำให้มีการติดตาม ตรวจสอบ การสอบสวนได้เป็นอย่างดี และมีผลต่อคุณภาพการทำงาน และคุณภาพของสำนวนการสอบสวนได้อย่างแท้จริง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เห็นได้ว่าการปฏิรูปการสอบสวน จึงต้องเริ่มพร้อมๆ กันหลายด้าน เพราะมีความเกี่ยวพันกันและเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตลอด การให้ภารกิจที่สำคัญแก่ตำรวจ รัฐต้องมีเครื่องมือและให้หลักประกันการทำงานแก่ตำรวจด้วย จึงจะทำให้การทำงานของคนที่ตั้งใจทำงานดี ได้รับผลตอบแทนที่ดี และสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพให้กับการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญาและนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติได้ต่อไป