ดีเดย์วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นการเริ่มต้นมาตรการงดใช้ถุงพลสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือถุงก๊อบแก๊บ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำข้อตกลงร่วมกับห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาเก็ตและและร้านสะดวกซื้อต่างๆทั่วประเทศ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
กระแสที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนตื่นตัวตอบรับกับมาตรการดังกล่าว เตรียมพกถุงผ้า และภาชนะต่างๆ ไปเตรียมใส่สินค้าแต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากยังมีกระแสความไม่พอใจของประชาชนบางส่วน ที่ไม่ได้รับความสะดวกและไม่ได้เตรียมความพร้อมกรณีดังกล่าว และฝ่ายการเมืองก็นำไปขยายความและโหนกระแสเพื่อหวังผลทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ประกาศออกมาโดยกระทันหัน แต่มีการประชาสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าบางแห่ง และร้านสะดวกซื้อ ได้นำร่องงดใช้ถุงพลาสติกมาก่อนแล้ว ดดยในห้างฯบางแห่งจะมีช่องคิดเงินที่ไม่แจกถุงพลาสติก หรือถ้าต้องการถุงพลาสติกจะต้องจ่ายเงินซื้อเป็นต้น
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า กว่าจะมาถึงการออกมาตรการในวันนี้นั้น ประเทศไทยเราผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่ง
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ในตอนหนึ่งว่า “...ปีใหม่แล้ว การจัดการปัญหาขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง/ขยะทะเล เริ่มเข้มข้นขึ้น เลยอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์ฟังเริ่มจากผลกระทบของขยะทะเลในปี 62 ที่ผ่านมาไม่ได้ลดลง สัตว์ทะเลหายากหลายร้อยตัวบาดเจ็บ/ตาย ทั้งติดขยะทะเลภายนอก/กินขยะ
หาดที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกพบอยู่ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่หาดห่างไกลไม่มีชุมชนใหญ่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครผู้ไปช่วยเก็บขยะต่างรายงานว่า ขยะทะเลมีอยู่มหาศาล ถุงพลาสติกซ้อนกันเป็นชั้นๆ ใต้ผืนทราย ถึงขึ้นต้องใช้จอบขุดยังรวมถึงขยะทะเลที่สะสมอยู่ตามพื้นทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก เริ่มเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เราต้องเร่งมือจัดการขยะพลาสติกเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหนักหน่วงจนส่งผลต่อทะเล สัตว์น้ำเศรษฐกิจ หาดท่องเที่ยว ตลอดจนภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก ที่อาจกลับมาเป็นการกีดกันทางการค้า/การขึ้นภาษี/แบนสินค้าของไทย ฯลฯ แผนเราเป็นบันได 3 ขั้น รณรงค์ - ข้อตกลง - กฎระเบียบเราอยู่ในขั้นรณรงค์มาร่วม 20 ปี และยังต้องทำต่อไป
แต่ตอนนี้เรากำลังขึ้นบันไดขั้นสอง โดยกระทรวงทรัพยากรทำข้อตกลงกับห้างร้านกว่า 90 แห่งที่จะไม่แจกถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างบาง
ข้อตกลงสามารถยกเลิกได้ กระทรวงฯ จึงกำลังพยายามไปขั้นสาม โดยออกพรบ.จัดการปัญหาขยะพลาสติก ให้ได้ในปีนี้ เพื่อยกระดับการจัดการของไทยให้ทันโลก เพราะปัจจุบัน 127 ประเทศมีกฎหมาย/ระเบียบในการจัดการแล้ว...”
ดังนั้น สถานการณ์ของประเทศไทย ที่มาถึงบันไดขั้นที่สองแล้วนั้น ยังต้องเร่งสร้างจิตสำนึกและความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ลดความสะดวกสบายและมองประโยชน์ในภาพรวมที่จะได้กลับคืนมาสู่คุณภาพชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อม และอนาคตของลูกหลาน