เสือตัวที่ 6
ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้ไปสู่เป้าหมายปลายทางระหว่ารัฐกับขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากดินแดนของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน มีการชิงไหวชิงพริบกันไปมาระหว่างสองฝ่ายที่มุ่งช่วงชิงการนำการต่อสู้เป็นสำคัญ เพื่อให้ระยะก้าวของการขับเคลื่อนของฝ่ายตน เข้าไปใกล้เป้าหมายมากที่สุด บนซากศพและคราบน้ำตาของกลุ่มคนฝ่ายรัฐมากกว่าฝ่ายขบวนการอย่างเห็นได้ชัด เพราะการต่อสู้ที่ฝ่ายรัฐ เป็นฝ่ายที่ต้องดำเนินงานตามครรลองครองธรรม ตามตัวบนกฎหมายและกติกาสากลระหว่างประเทศ เปรียบเสมือนการขับเคลื่อนการต่อสู้ที่ต้องอยู่ในที่แจ้ง ในขณะที่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกผู้คน ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงกติกาหรือกฎหมายใดๆ เปรียบเสมือนการขับเคลื่อนการต่อสู้ที่อยู่ในที่มืด ยากที่ฝ่ายรัฐจะค้นพบสิ่งบอกเหตุใดๆ ก่อนที่ฝ่ายก่อการ จะลงมือก่อเหตุร้าย
นี่ยังไม่นับรวมถึงตัวช่วยของฝ่ายก่อการ ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยที่อยู่ในรูปของนักวิชาการในพื้นที่และในส่วนกลาง ตลอดจนที่แอบแฝงอยู่ในองค์กรระหว่างประเทศ ตัวช่วยที่แอบแฝงอยู่ในกลุ่มสื่อสารมวลชนทั้งในแบบเปิดและที่ปิดลับ ตัวช่วยในรูปแบบของภาคประชาสังคมที่มีมากมายหลายกลุ่ม ทั้งที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและที่อยู่ในรูปที่ไม่จดทะเบียนตามกติกาของชาติ กลุ่มแนวร่วม (ทางความคิด) มากมายทั้งในรูปของบุคลากรในสถานศึกษาหลายแห่งทั้งในพื้นที่และในส่วนกลาง นักสิทธิมนุษยชน และนักการเมืองท้องถิ่นและในระดับชาติ โดยมีแกนนำสำคัญของขบวนการร้ายแห่งนี้ อาศัยอยู่นอกประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มแนวร่วมที่ตกเป็นแนวร่วมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ได้ตั้งใจอีกมากมาย
โดยที่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากกันนี้ ไม่ต้องมีกติกาในการทำงานอะไรมากมาย ทุกกลุ่มทุกฝ่ายจึงมีอิสระในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้อย่างทรงพลัง ในขณะที่ฝ่ายรัฐ กลับต้องมีรูปแบบ มีกติกา มีระเบียบในการทำงานที่ชัดเจนและแข็งตัว และมีอำนาจหน้าที่แยกกันชัดเจนทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และขาดการบูรณาการการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างแท้จริง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญในการช่วงชิงการนำของการขับเคลื่อนการต่อสู้ของรัฐอย่างเห็นได้ชัดตลอดห้วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้สถิติในการก่อเหตุร้ายของฝ่ายขบวนการเหล่านี้ จะลดน้อยลง หากแต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของรัฐ ได้ทุ่มเททรัพยากรและความพยายามมากขึ้นเพียงใด แต่ผลตอบรับที่ได้กับได้มาไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น สร้างความกังวลให้คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายของรัฐว่า ในก้าวใหม่ต่อไปนี้ ฝ่ายรัฐควรที่จะสานต่อแนวทางเดิมที่เคยขับเคลื่อนเหล่านั้นต่อไปหรือไม่ หรือควรจะก้าวข้ามแนวคิดและวิธีการเดิมๆ ที่เคยทำมา แล้วหาแนวทางใหม่ที่น่าจะเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนลงแรงได้ดีกว่า
จากสถิติเหตุการณ์ในพื้นที่ จะพบว่ามีเหตุรุนแรงทุกรูปแบบเกิดขึ้นเพียง 274 เหตุการณ์ ซึ่งในจำนวนนี้ตรวจสอบแล้วเป็นการก่อความไม่สงบเพียง 121 เหตุการณ์เท่านั้น แยกเป็น เหตุโจมตีที่ตั้ง - 2 เหตุการณ์ ซุ่มโจมตี - 3 เหตุการณ์ ยิง - 50 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 184 เหตุการณ์) ระเบิด - 60 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 61 เหตุการณ์) วางเพลิง 2 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 7 เหตุการณ์) ชิงอาวุธ / ทำร้าย / อื่นๆ - 4 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 17 เหตุการณ์) รวม 121 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 274 เหตุการณ์)
จำนวนเหตุรุนแรงที่เป็นการก่อความไม่สงบ 121 เหตุการณ์ มีทิศทางลดลงกว่าปีก่อนหน้า เพราะหากย้อนสถิติเหตุรุนแรงในปี 2561 มีเหตุรุนแรงทุกประเภท 161 เหตุการณ์ และยังลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 ที่มีเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 178 เหตุการณ์ สำหรับความรุนแรงที่ยังดำรงอยู่ ทำให้เกิดความสูญเสียทุกสาขาอาชีพ หนักที่สุดคือประชาชนทั่วไป จะเห็นได้ว่าตกเป็นเหยื่อความรุนแรงถึง 140 ชีวิต นับเฉพาะเหตุก่อความไม่สงบ สูญเสีย 48 คน ขณะที่ตำรวจ ทหาร และผู้นำท้องถิ่น อยู่ในสัดส่วนต่ำลงมา คือ ตำรวจ 9 นาย ทหาร 9 นาย ผู้นำท้องถิ่น 4 คน รวมยอดผู้สูญเสียเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบ 72 ราย เพิ่มขึ้นกว่าปี 60 ที่มียอดผู้เสียชีวิตเพียง 62 ราย
แม้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีแนวโน้มลดลงในเชิงปริมาณ แต่เหตุร้ายที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง ได้สร้างความสูญเสียในวงกว้าง เรียกได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ และสะท้อนถึงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่า จะนำความสงบสุขมาสู่คนในพื้นที่แห่งนี้ได้เมื่อใด แม้การลดลงเชิงปริมาณของเหตุร้ายดังกล่าว อาจวิเคราะห์ได้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบ ก่อเหตุได้น้อยลงก็จริง ทว่าแต่ละเหตุการณ์กลับมีความรุนแรงมากขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็นการก่อเหตุที่ก่อความเสียหายร้ายแรง โดยไม่เน้นเชิงปริมาณ ซึ่งอาจเป็นเพราะการเฝ้าระวังป้องกันของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทำให้ฝ่ายก่อเหตุร้าย มีโอกาสในการก่อความไม่สงบได้น้อยลง หากแต่ความสามารถในการก่อเหตุร้ายแต่ละครั้ง ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาที่สถานการณ์เอื้ออำนวย โดยที่ฝ่ายรัฐ ไม่อาจล่วงรู้แผนการร้ายเหล่านั้นได้ก่อน ทั้งที่การก่อเหตุร้ายในครั้งหลังๆ มีคนจำนวนมากที่ฝ่ายขบวนการ ได้มีการรวมกำลังเข้าปฏิบัติการเป็นจำนวนมากขึ้น หากแต่ข่าวสารในแผนการร้ายดังกล่าว ไม่เล็ดรอดออกมาถึงฝ่ายข่าวของรัฐเลยแม้แต่น้อย
สิ่งบ่งชี้ที่สามารถเห็นเชิงประจักษ์ต่อปรากฏการณ์ที่ผ่านมาดังกล่าว จึงชี้ให้เห็นว่า การเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่น ให้กลับมาเป็นมวลชนของรัฐนั้น ทำได้เพียงใด อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญให้การก้าวเดินของฝ่ายรัฐในการแย่งชิงมวลชนให้กลับมาเป็นของรัฐไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายเท่าที่ควร เหตุร้ายในพื้นที่อันเป็นผลจากการกระทำของฝ่ายขบวนการ ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา อย่างยากที่จะคาดเดา และยากที่ฝ่ายรัฐจะเห็นจุดหมายปลายทาง นั่นจึงสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดและวิธีการต่อสู้ของรัฐที่มีต่อขบวนการแบ่งแยกผู้คนที่ผ่านมาหลายสิบปีเหล่านั้น น่าจะไม่เป็นแนวคิดและวิธีการที่เหมาะที่ควร เปรียบเสมือนยาที่ไม่สามารถรักษาหรือควบคุมอาการของโรคได้ จึงไม่น่าจะใช้รักษาโรคภัยนั้นได้ต่อไป หากขืนดันทุรังใช้ยาเดิม รังแต่จะทำให้เกิดอาการดื้อยาและส่งผลร้ายต่อการดำรงชีวิตในที่สุด ดังนั้น ต่อแต่นี้ไป รัฐต้องหันมาทบทวนแนวคิดและวิธีการเอาชนะขบวนการร้ายปลายด้ามขวานเสียใหม่ ให้เป็นการก้าวเดินต่อไปที่สามารถดับไฟใต้ได้อย่างแท้จริงเป็นรูปธรรมเสียที