แสงไทย เค้าภูไทย
ขณะที่กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ การบริโภคซบเซา เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลพยายามแก้ด้วยการลงทุนกระตุ้นทางอ้อม และทางตรงด้วยการแจกเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่ ตอนนี้ลังเลอยากขึ้นแวตเพิ่มรายได้รัฐ แต่ติดขัดเกรงบริโภคหดตัวทั้งๆที่มุมกลับอาจกระตุ้นการบริโภคอย่างแรง
ตัวอย่างจากญี่ปุ่นขึ้นภาษีแวต คนแห่ซื้อสินค้าตุน ดัชนีผู้บริโภคพุ่งพรวดๆ แต่ก็ชะงักงันไป 8 เดือนเพราะตุนสินค้ากันมากไป ทว่าก็กลับมาดีดังเดิมเมื่อผู้บริโภคคุ้นกับราคาใหม่แม้จะเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด หรือไปตายเอาดาบหน้าเมื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคด้วยแวตแต่วิสัยนักการตลาดภาคเอกชน ย่อมจะหาทางทำให้สินค้าของตนขายได้แม้ยามที่มีการตุนสินค้าเฉพาะสินค้าบริโภคนั้นไม่น่าห่วง ตุนกันอย่างไรก็ไม่เกิน 3 เดือน จะกังวลก็แต่สินค้าอุปโภคที่ตุนกันได้ข้ามปี
สมมุตว่าข้างแกงถุงร้านรสเด็ดประกาศจะขึ้นราคาจากถุงละ 35 บาท เป็น 45 บาทลูกค้าก็อาจจะซื้อตุนไว้สัก 10-20 ถุง ซึ่งก็จะหมดไปจากการบริโภควันละ 3 ถุง 6 ถุง ไม่กี่วันก็หมด ต้องมาซื้อในราคาใหม่กลับไปกิน
หรือถ้าแม่ค้าจะ สร้างแรงจูงใจให้ซื้อสินค้าใหม่ เช่น อัพเกรดแกงด้วยการเพิ่มคุณภาพ เพิ่มปริมาณให้สอดรับกับราคาเพิ่ม หรืออาจจะมีนวัตกรรมใหม่ เช่นแกงตำรับใหม่ แกงตำรับห้องเครื่อง ฯลฯ ลูกค้าเห็นสินค้าใหม่ ก็อาจจะซื้อไปกินควบกับของเก่า ของใหม่ถุงละ45 บาท ของเก่า 35 บาท รวมเป็น 80 บาท หาร 2 ก็เป็น 40 บาท เท่ากับว่าลดค่าแกงลงไปได้ถุงละ 5 บาท
ถ้าวันนี้ รัฐบาลประกาศว่า สิ้น 30 กันยายน 2560 ไป อันเป็นเดือนครบรอบใช้มาตรการภาษีมูลค่าเพิ่ม7% ที่ต่ออายุมาหลายปีแล้ว จะไม่มีการต่ออายุภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรานี้อีก
คือตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป จะใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่อาจจะเป็น 8% หรือ 9% หรือจนเต็มพิกัด 10 % ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจยามนี้ก็สุดแต่จะเห็นสมควรเหลือเวลาอีก 6 เดือนจะถึงวันนั้น ประชาชนก็จะเริ่มสะสมสินค้าที่เห็นว่าจำเป็นต่อการยังชีพเป็นการใช้จ่ายล่วงหน้า ยิ่งใกล้กำหนดหมดอายุแวต 7% ก็ยิ่งเร่งการจับจ่าย
เป็นตัวกระตุ้นที่ดี แม้จะต้องไปตายเอาดาบหน้า คือการหดตัวหรือชะลอตัวของการบริโภคก็ตาม
ทว่าก็เข้าฤดูเทศกาลรื่นเริงปลายปีรับปีใหม่พอดี พวกเกษียณอายุรับบำเหน็จบำนาญ พวกทำงานห้างร้านเอกชนรับโบนัส ข้ามปีไปตรุษจีน จะขี้เหนียวจ่ายน้อยไหว้เป็นพิธีก็ไม่ได้ เจ้าและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะเห็นผิดสังเกต เมื่อไหว้กันตามมีตามเกิด เจ้าก็จะให้พรตามมีตามเกิดเหมือนกันภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี( ส.ค. 2531-ก.พ.2534 ) เคยมีดำริที่จะลดแวตลงเหลือแค่ 5%
จุดประสงค์เพื่อลดค่าครองชีพสำหรับคนมีรายได้น้อยและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มผู้มีรายได้มากแต่มีการทักท้วงจากคลัง ด้วยเหตุผลว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นรายได้สำคัญ เป็นภาษีที่ทำรายได้ให้แก่คลังสูงสุดในบรรดาภาษีทุกประเภท ก็เลยระงับไป
มองอีกด้าน ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่เก็บจากสินค้าที่ขายได้ในอัตราเท่ากันหมด คือ 7% มองดูแล้วเท่าเทียมกันหมด ทั้งคนจนคนรวยจ่ายเท่ากัน ซื้อน้ำปลาขวดละ 15 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.05 บาท คนรวยกับคนจนจ่ายแวตสำหรับน้ำปลาขวดเดียวกัน 1.05 บาท เท่ากันแต่หากเอารายได้ เอาภาวะค่าครองชีพมาเป็นตัววัด จะเห็นว่าไม่เท่าเทียมกัน
สมมุตว่าคนจนมีรายได้ต่อหัวกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทคนรวยมีรายได้วันละ 1,000 บาท(รวยระดับล่าง) แวต 1.05 บาทนี้มีสัดส่วนเป็น 0.35% ของรายได้ของคนจน แต่มีสัดส่วนแค่ 0.105% ของรายได้ของคนรวยเท่านั้นเป็นความเหลือมล้ำทางการจ่ายและแบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีอยู่มาก คือ 3.33 เท่าตัว
บางสินค้าความเหลื่อมล้ำมีมากกว่านี้ หรือน้อยกว่านี้
จะทำอย่างไร ถึงจะแยกคนรวย คนจนออกจากกลุ่มผู้บริโภคได้ ?จะต้องให้มีบัตรคนรวย มีบัตรคนจนหรืออย่างไร ?ที่แก้ได้ก็เพียงอย่างเดียว คือตัวสินค้าเลือกกลุ่มผู้ซื้ออย่างน้ำปลานั้น เกรดต่ำ 10-15 บาท เหมาะสำหรับคนจนที่มีกำลังซื้อพอที่จะรับราคาสินค้ากลุ่มราคานี้ได้
แต่สำหรับคนรวย รสนิยมและลิ้นของคนรวยก็ต้องรับรสชาติแบบรวยๆ ต้องกินน้ำปลาระดับพรีเมี่ยมเกรด ชนิดขวดละ 20-30 บาท ซึ่งคนจนไม่สามารถตะเกียกตะกายขึ้นมากินน้ำปลาเกรดนี้ได้แต่ก็คงมีคนรวยอีกมากที่ลดตัวลงมาแย่งกินสินค้าของคนจนมองโลกในแง่ร้าย ก็ต้องว่าถ้าไม่แย่งคนจนกิน ไม่เอาเปรียบสังคม โลกนี้จะมีนรวยเรอะ ?
บางประเทศใช้มาตรการภาษีเป็นตัวแบ่งความจนความรวย หรือแบ่งชนชั้นรายได้เช่นภาษีสรรพสามิตเป็นต้นกระเป๋าถือสตรีแบรนด์เนม อย่างโคช อย่างหลุยส์วิตตองใบละเป็นหมื่นๆหรือแสนๆ นั้น แม้จะคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม7% เท่ากับกระเป๋าจ่ายตลาดราคาใบละ 50-60 บาทแล้ว
แต่ยังมีภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยคือภาษีสรรพสามิตติดตัวไปด้วย ก็เท่ากับคนรวยเสียภาษีเพิ่มเมื่อซื้อสินค้าที่เลือกผู้ซื้ออย่างกระเป๋าแบรนด์เนมเป็นต้นมองในแง่ของการคลัง สำหรับปัจจุบันนี้ ทุก 1% ของภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มจาก 7% จะมีมูลค่าถึง 100,000 ล้านบาท น่าเสี่ยงขึ้นแวตเหมือนกัน เพราะเราขึ้นแค่ 1%
เทียบกับญี่ปุ่นที่เราเอามาเป็นบทเรียนให้กลัวกัน แล้วคนละเรื่องญี่ปุ่นขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เขาเรียกกันว่า ภาษีบริโภค (Consumption Tax -CTAX)ตามเป้าหมาย จาก 5% เป็น 8% ในปี 2514 ขยักหนึ่งและ 2515 อีกขยักหนึ่ง
ผลปรากฏว่า ครั้งแรกขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน คนกักตุนสินค้าใช้กันกว่าจะหมดก็จนถึงตุลาคม เช่นเดียวกันกับครั้งที่ 2 ขึ้น CTAX 2 ครั้งรวม 5% คือเท่าตัว ผู้บริโภคก็กระอัก ลดการจับจ่ายใช้สอยพรวดพราด จนเศรษฐกิจญี่ปุ่นสะเทือน ชะลอตัวจนต้องใช้ QE และดอกเบี้ย negative rate มาจนถึงวันนี้
สำหรับบ้านเรา 1% ดูแล้วไม่มาก หรืออาจจะไม่กระทบ สำหรับสินค้าของคนจน อย่างมาม่าก็ขึ้นแค่ซองละ 5 สตางค์ แทบจะไม่รู้สึกอะไร อัตราแวตที่เพิ่มระดับนี้ เจ้าของสินค้าอาจจะแบกรับภาระเอง โดยลดงบฯโฆษณามาแทน 1% ที่หายไปจากการไม่ขึ้นราคาสินค้า ได้ผลทางจิตวิทยาสูงกว่าการลงโฆษณามาก ไม่น้อยไปกว่าภาพสมเด็จฮุนเซนเปิดกระโปรงท้ายรถนั่งซดมาม่าเลย