สมบัติ ภู่กาญจน์
ข้อเขียนวันนี้ จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการปกครองสงฆ์ของไทยในอดีต ตอนที่สาม ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชพยายามให้ความรู้แก่สาธารณชนคนไทยเอาไว้ในยุคเมื่อสี่สิบปีมาแล้ว ที่ชาวพุทธก็เคยมีความเห็นไม่ตรงกัน ไม่แตกต่างกันนักกับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันมีเนื้อความดังนี้
การปกครองสงฆ์นั้น ยังอยู่ในระบอบฆราวาสปกครองพระ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ก่อนขึ้นรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ทรงผนวชตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แล้วก็ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศมาจนตลอดรัชกาลที่ 3 ในสมัยนั้นได้ทรงตั้ง ‘คณะธรรมยุต’ขึ้น ในระหว่างพระภิกษุผู้เป็นสหธรรมิกของพระองค์
ในขั้นแรก พระธรรมยุตก็มิได้แตกต่างไปจากพระอื่น กล่าวคือ ไม่ถึงกับแยกออกมาเป็นอีกนิกายหนึ่งต่างหาก คงเป็นเพียง‘คณะ’อีกคณะหนึ่งของพระสงฆ์ ซึ่งมีความเห็นถือมั่นในพระธรรมวินัยบางข้อแตกต่างไปจากที่พระส่วนใหญ่เคยถือกันมา เช่นการนุ่งห่มจีวร พระธรรมยุตใช้วิธี ‘ห่มแหวก’แบบพระมอญ เพราะเห็นว่าตรงตามพระธรรมวินัยมากกว่าการ ‘ห่มคลุม’แบบพระไทย หรือแบบที่พระมหานิกายส่วนใหญ่ยังนุ่งห่มกันอยู่ในขณะนี้
ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจว่า จะทำให้พระไทยกลายเป็นพระมอญไป เมื่อความนี้ พระภิกษุสมเด็จพระจอมเกล้าทรงทราบ ก็โปรดให้พระธรรมยุตห่มคลุมไปอย่างเดิมจนตลอดรัชกาล(ที่ 3) จนมาขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 พระธรรมยุตจึงได้กลับมาห่มแหวก เหมือนอย่างที่ทำกันต่อไป แต่ถึงกระนั้นก็ดี ในงานพระราชพิธีทุกงาน อันมีในวัดที่พระต้องห่มดองตามพระวินัย พระธรรมยุตก็จะยอมห่มดองคาดประคต เช่นเดียวกับที่พระไทยในยุคก่อนเคยทำกันอยู่ ซึ่งตรงกันกับวิธีปฏิบัติของพระมหานิกาย
ในความเห็นของผม เรื่องพระห่มผ้าอย่างไรจึงจะถูกตามพระธรรมวินัยนั้น เป็นเรื่องของการตีความ อันเป็นเรื่องความเห็นของแต่ละคน ที่จะชี้ขาดอย่างไรคงยากอยู่เหมือนกัน ดังจะเห็นจากพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ อันเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว 500 ปี ที่นับได้ว่าเก่าแก่ที่สุดนั้น ก็จะเห็นว่า ‘ห่มคลุมหนีบลูกบวบ’แบบพระมหานิกาย และถ้าหากเป็นพระพุทธรูปที่ ‘ห่มดอง’ ก็จะ ‘คาดประคต’แบบพระมหานิกายอีกเหมือนกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าจะทรงห่มจีวรแบบใดนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานใดๆชี้ชัดได้ แต่ถ้าจะใช้หลักฐานทางวิชาโบราณคดีที่ยึดหลักความเก่าแก่ที่สุด ก็จะต้องยึดพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ และการห่มผ้าแบบมหานิกายก็จะใกล้เคียงที่สุด
นอกจากเรื่องห่มผ้า ก็ยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆของพระธรรมยุตที่แตกต่างออกไปอีก เช่นการฉันอาหารบางชนิดหลังเพล เช่นนมสด พระธรรมยุตจะไม่ฉัน การอุ้มบาตรออกบิณฑบาต พระมหานิกายใช้สะพายบาตร พระธรรมยุตอุ้มบาตร การสวมรองเท้าออกนอกวัด พระธรรมยุตไม่สวม การออกเสียงภาษาบาลี และการสวดมนตร์ ก็แตกต่างกัน”
(ขออนุญาตเว้นวรรคสักนิดครับ – จากประสบการณ์ของผม ผมพบว่า เรื่องราวอย่างนี้ ทุกวันนี้ดูจะห่างไกลจากการรับรู้หรือเข้าใจ ของคนรุ่นเจน Y เจน Z มากขึ้นอยู่ทุกวัน เพราะหลายคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาโดยที่ความรู้เหล่านี้ไม่เคยผ่านแว่วเข้าหูมาเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่งมาได้ยินเข้าภายหลัง บางคนจึงจะแสดงความสงสัยไถ่ถามให้ผมได้พบความจริงเช่นนี้ออกมา ซึ่งคนเจนXอย่างผมฟังแล้วก็ต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ ก่อนจะยึดหลักเมตตาอธิบายความ เท่าที่จะทำได้หรือเหมาะแก่กาละเทศะไปให้ทราบ นี่คือเหตุผลอีกอย่างที่ผมอยากนำความรู้เหล่านี้ของอาจารย์คึกฤทธิ์มาฉายซ้ำในยุคนี้อีกที และขณะเดียวกันก็อยากให้ท่านผู้ที่สนใจในงานเขียนได้โปรดสังเกตุ ‘วิธีการเขียน’เรื่องยากหรือเรื่องน่าเบื่อให้คนทุกระดับสามารถติดตามอ่านหรือทนฟังต่อไปได้ (มิใช่ระบายแต่อารมณ์ความรู้ของตัวเองไปโดยไม่คำนึงถึงอารมณ์แห่งความไม่รู้หรือความเบื่อของผู้ฟังซึ่งเป็นคนอื่น) ของอาจารย์คึกฤทธิ์เอาไว้ด้วย วิธีการเช่นนี้เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับสังคมได้อย่างหนึ่งซึ่งทุกวันนี้นับวันจะหายากขึ้นทุกทีแล้ว ใครไม่เชื่อก็ขอให้อ่านข้อเขียนต่อไปนี้ แล้วพิจารณากันดูครับ)
ส่วนการสวดมนตร์นั้น พระธรรมยุตสวดตามวรรคตอน ถ้าเป็นร้อยแก้ว และสวดตามฉันทลักษณ์ ถ้าเป็นคาถาหรือฉันท์ ส่วนพระมหานิกายนั้นสวด ‘สังโยค’คือกระทบจังหวะ ลงเสียงหนักเบาที่ตัวสะกด เช่นนะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
สวดให้ดีแล้วมัน อย่าบอกใคร
และการออกเสียงบาลี พระมหานิกายก็ออกเสียงอักขระตามแบบไทย เช่น ท ก็ออกเสียงเป็น ท เทว ก็ออกเสียงว่า เทวะ นิพพาน ก็ออกเสียงว่า นิบพาน
แต่พระธรรมยุต จะออกเสียงบาลี ตามวิธีที่คนศึกษาบาลีทั่วโลกเขาออกเสียง คือ ท ออกเสียงเป็น ด เทวะ ก็จะเป็น เดวะ และ พ ออกเสียงเป็น บ เช่นนิพพาน ก็ต้องออกเสียงเป็น นิบบาน
คนชื่อบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นั้นถ้าจะออกเสียงแบบธรรมยุตอ่านบาลี ก็จะต้องออกเสียงว่า
บุญเด้ง ดองสวัสดิ์
ครับ – เขียนให้ออกนอกเรื่องนอกราวกันอย่างนี้แหละ จะได้มีเรื่องเขียนได้อีกหลายวัน และคนอ่านจะได้ไม่เบื่อ อีกทั้งเรื่องที่ควรจะต้องรู้ต้องเขียนถึง ก็ยังจะมีต่อไปอีก”
( หมายเหตุก่อนจบว่า - บุญเท่ง ทองสวัสดิ์คือเพื่อนรักนักการเมืองของอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งแต่สมัยที่เริ่มเล่นการเมืองเมื่อปี 2489 และถึงสมัยที่คึกฤทธิ์ ปราโมชมาตั้งพรรคการเมืองชื่อกิจสังคม ก็ได้เพื่อนรักคนนี้มาร่วมงานการเมืองกันอีก จนคึกฤทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ถึงปี แต่ได้เปิดสัมพันธไมตรีกับจีน ส่งผลให้ปัญหาผู้ก่อการร้ายในประเทศเริ่มมีทางออกได้ช่องหนึ่ง บุญเท่งก็ยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลคึกฤทธิ์ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดก่อนงานเขียนชิ้นนี้ ซึ่งเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และเลยยุคปฏิรูป มาจนถึงหลังทศวรรษ 2520 สมัยที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ขออนุญาตเพิ่มเสริมข้อมูลไว้เพื่อเป็นความรู้ให้ครบมิติ ก่อนที่จะติดตามเรื่องราวนี้ ซึ่งยังมีทั้งเนื้อหาและนัยยะ ที่น่าสนใจต่อไปอีกมากครับ)