นับเป็นข่าวที่ชวนให้ต้องลุ้นระทึก เมื่อล่าสุด “ศาลรัฐธรรนูญ” มีคำสั่ง “รับคำร้อง” ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบ พรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จากกรณีที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค ให้เงินพรรคกู้ยืมจำนวน 191 ล้านบาท
แต่ที่เป็นเรื่องร้อน และอาจจะเกิดขึ้นก่อน “คดีเงินกู้191ล.” เพราะยังมี “คดีล้มล้างการปกครอง” ที่เป็นคิวร้อนมา “จ่อคอหอย” พรรคอนาคตใหม่
โดย ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดวันอ่านคำวินิจฉัยในวันอังคารที่ 21 ม.ค. 63 !
นั่นหมายความว่า สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่ยังสังกัดพรรคในยามนี้ มีหรือที่จะไม่อกสั่นขวัญแขวน มีเรื่องให้ต้องลุ้น “ชะตากรรม” ของตัวเอง ว่าจะอยู่หรือไป
โดยเฉพาะในจังหวะที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หลายเรื่อง หลายวาระที่พรรคอนาคตใหม่ ว่าที่สุดแล้วพรรคมีอันที่จะถูกยุบอย่างไม่ต้องสงสัย จนทำให้ “พรรณิการ์ วานิช” โฆษกพรรค ต้องออกมาฟ้องสังคมว่า เรื่องนี้แม้แต่พี่น้องประชาชนเอง “ยังรู้สึกได้”ว่า “มีใบสั่ง”
มิหนำซ้ำยังต้องไม่ลืมว่า “4งูเห่าสีส้ม” ที่พรรคเพิ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขับออกจากพรรค พ้นจากสมาชิกภาพ ทั้ง กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี , จารึก ศรีอ่อน และ พ.ต.ท.ธนภัทร กิตติวงศา 2ส.ส.จันทบุรี และศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ กลับไม่มีใครเดือดเนื้อร้อนใจ
และที่น่าปวดใจ กลับกลายเป็นว่า ทั้ง 4 งูเห่าของพรรค ล้วนแล้วแต่มี “พรรคใหม่” ให้เข้าสังกัดไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องมาร่วมลุ้นชะตากรรม เช่นเดียวกับที่ยังเหลืออีก 76 ส.ส.ว่าจะทำอย่างไร ถ้าข่าวลือเรื่องยุบพรรคเป็นความจริงขึ้นมา
สำหรับคดีล้มล้างการปกครอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำพิพากษา 21 ม.ค.63 นั้นดูจะมี “แรงเสียดทาน” มากกว่าคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท เพราะหากในวันดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้ยุบพรรคขึ้นมาจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ย่อมไม่พ้นปัญหาจะประดังเข้าใส่พรรคอนาคตใหม่ รวมทั้ง “ฝ่ายรัฐบาล” โดยไม่ต้องคาดเดา
โดยคดีล้มล้างการปกครอง เริ่มนับหนึ่งมาจาก คำร้องที่ “ณฐพร โตประยูร” ในฐานะผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร , ปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหาร พรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1-4 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำชี้แจง ว่า ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในคดีนี้ มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะ พิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวน ทั้งนี้ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันอังคารที่ 21 ม.ค. 63
ความเคลื่อนไหวที่ฝ่ายความมั่นคงจะต้องเฝ้าจับตา รวมทั้งฝ่ายรัฐบาล คือจังหวะการขับเคลื่อนของพรรคอนาคตใหม่ ตลอดจน “แนวร่วม” ในภาคสนาม จะต้องมีการปรับโหมด การจัดอีเว้นท์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. 63 จากเดิมที่จั่วหัวกันเอาไว้ “วิ่ง ไล่ ลุง” นั้นจะมีโอกาสเพิ่มความแรงไปสู่ “วิ่ง ไล่ ศาล” แทนหรือไม่ ! ?