รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ถ้า “ข่าว” มีความหมายแค่คำว่า “NEWS” คือ N=North E=East W=West S=South บทความนี้ก็คงไม่ต้องเขียน ไม่ต้องอ่าน แต่ “ข่าว” ณ วันนี้ เป็นมากกว่า “NEWS”
ยุคนี้ “ข่าว” ไม่ได้เป็นแค่เพียงคำบอกเล่าเรื่อง รายงานเหตุการณ์ ซึ่งโดยปกติมักเป็นเรื่องที่เกิดใหม่ หรือเป็นที่น่าสนใจ เฉกเช่นความหมายเดิมเดิมที่เคยเข้าใจในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่เมื่อนำมาใช้ให้ถูกทาง “ข่าว” จะกลายเป็นหนึ่งใน “ข้อมูลดิบ” (Data) ซึ่งเมื่อนำมาผ่านขบวนการกลั่นกรองจะได้เป็น “ข้อมูล” (Information) นำข้อมูลมาสกัดก็จะให้เกิดเป็น “องค์ความรู้” (Knowledge) และนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ จะทำให้เกิดเป็น “ภูมิปัญญา” (Wisdom)
“ข่าว” นอกจากจะเป็นหนึ่งใน “ข้อมูลดิบ” ที่เป็นจะนำไปสู่กระบวนการสกัด “ภูมิปัญญา” แล้ว “ข่าว” ยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการทำสงครามข่าวสารที่ต่อสู้ด้วยข้อมูล ความรู้ โดยเฉพาะใน “เกมการเมือง” ซึ่งเป็นเกมของการแย่งชิง “อำนาจ” ทางการปกครองของเกือบทุกประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เกมการเมืองไทยเอง ก็ถือเป็น “สมรภูมิรบ” ที่มีการต่อสู้อย่างดุเดือดเผ็ดมันเช่นกัน
การนำ “ข่าว” มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบ “อวิชชา” เพื่อการแย่งชิงความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง มีวิธีการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข่าวแบบการตลาดทางการเมือง คือ ใช้ข่าวใหม่กลบข่าวเก่า โดยเฉพาะในประเทศที่เรียกแบบเกรงใจว่า “กำลังพัฒนา” อย่าง “ไทย”
แต่คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าการสร้าง “ข่าวลือ” (Rumor) โดยทั่วไปหมายถึงข่าวที่พูดกันทั่วไป แต่ยังไม่มีอะไรยืนยันได้แน่นอนว่าเป็นความจริงทั้งหมด ครึ่งเดียวค่อนเดียว เลี้ยวเดียว หรืออาจไม่มีความจริงอยู่เลย ซึ่งภาษาหนังสือพิมพ์ใช้ คำว่า “เต้าข่าว” หรืออาจคำว่า “นั่งเทียนเขียนข่าว” สำหรับข่าวที่สื่อมวลชนสร้างขึ้นมาเอง ยังคงเป็น “วิชามาร” “ยุทธการสกปรก” ที่มีอายุยืนยาว และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวงการตั้งแต่วงการบันเทิง จนถึงการศึกษา แต่ข่าวลือในวงการการเมือง เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะการเมืองเปรียบเสมือนเป็น “ยาดำ” ที่เข้าไป แทรกซึม และมีอิทธิพลต่อทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สังคม หรือแม้แต่เศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามแม้ “ข่าวลือ” แม้จะเป็นเพียง “เสียงนกเสียงกา” ที่ไม่รู้ว่าต้นกำเนิดของเสียง เป็นใคร ข้อมูลที่ถูกเล่าขานต่อกันมาจนไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเท็จ แต่ถึงอย่างไร “ข่าวลือ” ก็มีอิทธิพลต่อการโน้มนำความคิดสาธารณชน ที่สามารถใช้ในการดับ “ผู้นำ” ทำลาย “ประเทศ” มามากต่อมากแล้ว..!! อนุภาพสูงสุดของ “ศาสตร์ข่าวลือ” คงหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า “ข่าวลือ” เปรียบเสมือนเป็น “ชนวน” ที่ใช้ “จุดระเบิด” ให้ประชาชนเกิดแรงขับเคลื่อนในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มักจะปรากฏเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์โลกอยู่เสมอ
ดังนั้น เมื่อ “ข่าวลือ” เป็นสิ่งที่อันตรายต่อสังคมไทย การสยบ “ข่าวโคมลอย” จึงถือเป็นศาสตร์ที่ “ผู้นำ”การเมือง จำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แล้วยิ่ง ณ วันนี้ สังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับสารพัดข่าวลือ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีผ้าอนามัย การยุบพรรคอนาคตใหม่ การขึ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ม๊อบขับไล่รัฐบาล หรือแม้แต่การปรับครม. ยุบสภา ก็ตอกย้ำให้ “การสยบข่าวลือ” เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะละเลย
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เกี่ยวกับข่าวลือที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,082 คน ในประเด็น “ข่าวลือ หรือเฟคนิวส์” ณ วันนี้ ที่ประชาชนสนใจ สรุปผลได้ ดังนี้
วิธีการสยบข่าวลือ ควรทำอย่างไร? ในมิติประชาชน พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 56.21 คือ มีสติ มีวิจารณญาณ ไม่หลงเชื่อง่าย รองลงมา ได้แก่ ตรวจสอบข่าว หาข้อมูลจากหลายๆที่ ร้อยละ 28.97 และหยุดแชร์ หรือ ส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ร้อยละ 21.56
วิธีการสยบข่าวลือ ควรทำอย่างไร? ในมิติรัฐบาล พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 42.09 คือ จัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รองลงมา ได้แก่ มีการตรวจสอบข่าวที่ถูกต้อง แม่นยำ และรีบออกมาชี้แจงทันที ร้อยละ 38.90 และติดตามจับกุมผู้ปล่อยข่าว มีบทลงโทษอย่างจริงจัง ร้อยละ 24.66
นี่คือ วิธีการสยบข่าวลือในมิติประชาชน และรัฐบาล ซึ่งแม้จะ “แก้ข่าวลือ” ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากจะมองหา “ยุทธวิธี” ที่ “สยบข่าวลือ” ที่ “ต้นตอ” อย่างยั่งยืน คงต้องมองไปที่นโยบาย การบริหารงาน ผลงานของรัฐบาล และผู้นำทางการเมือง หรือนายกรัฐมนตรี ว่าสามารถสร้างสภาพเศรษฐกิจที่ “กินดีอยู่ดี” สังคมที่ “อยู่เย็นเป็นสุข” และการเมืองที่ “เป็นปึกแผ่นมั่นคง” ตอบสนองความต้องการของ “ประชาชน” ได้ดีเพียงใด?
เพราะถ้าผลงานของผู้นำดี ประชาชนดำรงชีวิตอย่างสงบสุข “ข่าวลือ” ก็คงไม่เกิด หรือถ้าเกิด “ประชาชน” ก็คงไม่สนใจ แต่ถ้าเกิด “กระแสข่าวลือรายวันอย่างต่อเนื่อง” ในสังคมเมื่อไร ก็น่าจะเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ให้ผู้นำรับรู้ว่าในขณะนั้นได้เกิด “ภาวะวิกฤติในสังคม” อย่างชัดชัด..!!
ถ้าผู้นำ คิดจะ “สยบข่าวลือ” ในแวดวงการเมืองที่เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจที่ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร การปล่อยข่าว สร้างข่าว ข่าวยกเมฆ ข่าวลือ ข่าวซุบซิบนินทา อย่างในแวดวงการเมืองไทยแล้ว คงเป็นไปได้ยาก อย่าว่าแต่จะรอให้เห็นในชาตินี้เลย ชาติหน้า หรืออีกสักพันปี ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เห็นหรือเปล่า..??
ใครรู้ว่าจะได้เห็นเมื่อไร คงต้องช่วยตอบที..??!!