ทวี สุรฤทธิกุล
ประชาธิปไตยไทยคือ “ต้นโพบนหินหัก” พระบรมราชาธิบายเรื่องความสามัคคีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีนัยถึงอนาคตของระบอบประชาธิปไตยของไทย นั่นก็คือ ทรงกล่าวถึงประชาธิปไตยที่เรียกกันในสมัยนั้นแบบอ้อมๆ ว่า “การปกครองบ้านเมืองแบบใหม่” ว่าจำเป็นจะต้องเกิดขึ้น แต่จะให้เหมือนกับประเทศอื่นๆ นั้นไม่ได้ ต้องทำให้เหมาะสมกับคนไทย ซึ่งก็มีปัญหามากเพราะยังมีคามขัดแย้งกันทางความคิดเห็น ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ โดยเฉพาะในหมู่ขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ ที่แม้อยากจะแก้ไขวิธีการปกครอง แต่ก็มีความคิดไปคนละแบบคนละทาง แต่ที่แย่ที่สุดก็คือ “โยนปัญหา” ในความขัดแย้งเหล่านั้นมาให้พระเจ้าแผ่นดินคือพระองค์เอง เมื่อพระองค์ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามใจคนเหล่านั้น ก็แอบตำหนิว่าพระองค์เป็นผู้ขัดขวางไม่อยากเปลี่ยนแปลง อย่างที่ได้ทรงเปรียบเทียบถึงความแตกแยกเช่นนี้ว่าเป็น “หินหัก” แม้จะพยายามปลูกปัก “ต้นโพ” ที่ทรงหมายถึงความเจริญของบ้านเมือง ก็ยากลำบากที่จะเจริญงอกงามเป็นต้นโพใหญ่และแข็งแรงได้
ทั้งนี้ในตอนท้ายของพระบรมราชาธิบายฯ ได้ทรงเน้นย้ำอีกว่า “ต้องสามัคคี” ซึ่งทรงหมายถึงความสามัคคีในความคิดเห็นเป็นจุดเริ่มต้น หรือหากจะมีความขัดแย้งกันก็ระงับความรู้สึกนั้นไว้ ไม่มีการอาฆาตพยาบาทหรือโกรธเคืองกัน และเมื่อตกลงในสิ่งใดได้แล้วก็ยินยอมพร้อมใจและร่วมมือลงมือทำให้สำเร็จ กระบวนการในการ “ประสานความคิด ประสานประโยชน์” เช่นนี้ในทางวิชารัฐศาสตร์สมัยใหม่กล่าวว่าเป็น “หัวใจ” ของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเป็นสิ่งที่จะ “ทำนุบำรุง” บ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
“เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่า การซึ่งจะให้สำเร็จเป็นความเจริญแก่บ้านเมืองได้ ต้องตั้งใจพร้อมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวว่าบ้านเมืองของเราเป็นเวลาจำเป็นที่จะต้องจัดการให้มีความเจริญเดินไปเสมอๆกับประเทศทั้งปวง ถ้าจะนิ่งอยู่ไม่จัดการอันใดคงจะเป็นการเสียอำนาจบ้านเมืองลดหย่อนไป บ้านเมืองจะไม่มีกำลังแข็งแรงพอที่จะรักษาตัวเองได้ ถึงโดยว่าจะเสียประโยชน์ที่ได้อยู่เดี๋ยวนี้มากกว่าที่หมายว่าจะได้ในเมื่อจัดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วก้ดี แต่ยังจะได้ประโยชน์นั้นยืนยาวอยู่ไม่ขาดลอยทีเดียวเหมือนอย่างเช่นถ้าทิ้งไว้อย่างนี้ บางทีจะเป็นไปได้ หรือความแตกร้าวโกรธขึ้งพยาบาทกันมาแต่ครั้งไรๆก็ดี ถ้าเป็นการตัดรอนขัดขวางกันได้ในเวลานี้ ก็เป็นแต่มื้อหนึ่งขณะหนึ่ง แต่ถ้าบ้านเมืองจะไม่ตั้งอยู่ปกติได้ ก็จะต้องได้รับความทุกข์เสมอกันการชะนะในครั้งหนึ่งคราวหนึ่งจะไม่เป็นเกียรติยศยืนยาวอยู่ได้หรือความปรารถนาที่จะอวดดีว่าเป็นผู้มีสติปัญญายิ่งกว่าเพื่อนบ้านชาติเดียวกันนั้น ก็เมื่อบ้านเมืองซึ่งเป็นชาติของตัวไม่ตั้งอยู่ได้แล้ว ถึงจะมีถ้อยคำแก้ตัวทับถมซัดทอดผู้ใดผู้หนึ่งให้มากมายสักเท่าใด ผู้มีสติปัญญาเขาก็คงไม่สรรเสริญยกย่องว่าตัวเป็นผู้มีสติปัญญาได้ หรือเมื่อไม่มีความคิดพอที่จะคิดให้ตลอดได้ ก็ไม่ควรที่จะมีทิฏฐิมานะหวงแหนอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องอุตสาหะที่จะหาผู้ช่วยคิดอ่านปรึกษาหารือจนการนั้นจะสำเร็จไปได้ไม่ควรที่จะละทิ้งความเพียรในการซึ่งจะคิดการอันมีคุณต่อแผ่นดินเสีย ส่วนว่าการซึ่งต้องติดขัดข้อง เพราะผู้ซึ่งเป็นผู้คิดนั้นมีการมากเหลือตัว ก็ควรที่ผู้ซึ่งไม่มีการมากจะต้องช่วยคิดอ่านอุดหนุนกันจนเต็มสติกำลัง เมื่อละข้อซึ่งเป็นเครื่องสกัดกั้นความเจริญของบ้านเมืองและความสามัคคีเสีย แล้วอุดหนุนกันและกันด้วยกำลังความคิดด้วยกำลังกาย ให้การทั้งปวงเป็นไปได้โดยเร็วโดยสะดวกโดยทางที่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีข้อใดซึ่งจะสงสัยว่าบ้านเมืองจะไม่มีความเจริญ เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นได้โดยปริยายที่กล่าวมานี้แล้ว นั่นแลนับว่าเป็นถูกต้องตามคาถา สพเพส สงฆภูตาน สามคคี วุฑฒิสาธิกา ซึ่งเป็นการสมควรแก่บ้านเมืองไทยตามความเห็นข้าพเจ้าว่า หนทางนี้จะเป็นทางถูกแท้ตามสมัยในประจุบันนี้”
“สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา” แปลว่า “ความเป็นผู้พร้อมเพรียงแห่งชนผู้เป็นหมู่แล้วทั้งหลายทั้งปวงให้ความเจริญสำเร็จ” มีสาระสำคัญอยู่ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ต้องมีความพร้อมเพรียงคือร่วมมือกันในทุกกิจการ สอง ภายใต้ความเป็นหมู่คณะคือความเป็นปึกแผ่นมั่นคง และสาม เมื่อทำได้ทั้งสองข้อดังว่ามานี้แล้วจึงจะทำงานสำเร็จและมีความเจริญก้าวหน้า
พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงเลือกคำมาประดับบนตราอาร์มของแผ่นดินได้อย่างประเสริฐยิ่ง พร้อมด้วยความหมายที่บ่งบอกถึงอนาคตและความอยู่รอดของประเทศชาติ นั่นก็คือ “ด้วยความสามัคคีเท่านั้น” ยิ่งไปกว่านั้นยังแสดงถึงพระราชวิสัยทัศย์อันกว้างไกลในความสำเร็จถ้าหากประเทศไทยจะมีการปกครองในระบอบประธิปไตยแบบรัฐสภา
นั่นก็คือต้องพยายามสร้างความสามัคคี สร้างการปกครองที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน และสุดท้ายต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ด้วยความยินยอมพร้อมใจ เพราะในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานี้ต้องอาศัยการปรึกษาหารือ ซึ่งย่อมจะมีความขัดแย้งแบ่งแยกอยู่เป็นธรรมดา แต่ว่าด้วย “สปิริต” หรือ “จิตวิญญาณของการปกครองระบอบนี้คือ “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ก็จะทำให้ระบอบนี้เติบโตและยั่งยืน
จะมีใครมีพระปรีชาญาณเทียมเท่าพระองค์ท่าน เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมองเห็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยไทยได้อย่างถึงรากถึงแก่น ซึ่งก็คือความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นปกครอง ที่ยังคงเป็นจริงอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งก็คือสังคมไทยยังเป็น “สังคมหินหัก” ที่จะปลูกจะปัก “ต้นโพ” ความคิดอะไรลงไป ก็หาได้เจริญสวยงามไม่
เสียดาย “ความใฝ่ฝัน” ของพระองค์ท่านเหลือเกิน