ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยเป็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 2 จากครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562ปรับลดจาก 1.75 % เหลือ 1.50 %
ทั้งนี้ กนง.ให้เหตุผลการตัดสินใจ มาจากการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และจะประเมินความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป
คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยการส่งออกสินค้าที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นแรงกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังต้องติดตามความเสี่ยงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งจะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในระยะต่อไป
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังมีแนวทางที่จะผลักดันให้เติบโตได้ โดยใช้นโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายการคลัง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการการคลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปมากแล้ว และภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง การจะใช้เครื่องมือนโยบายทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็อาจมีข้อจำกัด จึงอยากเห็นมาตรการทางการเงินเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น
“ธปท.เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลนโยบายการเงิน รัฐบาลคงเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ แต่เชื่อว่า ธปท.มีเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาท ที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เหมือนกับที่ธนาคารกลางประเทศอื่นๆก็มีการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เช่น มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบ หรือ QE และมีมาตรการอื่นๆในการแก้ปัญหาในแต่ละช่วงเวลา เรื่องปริมาณเงินที่จะเข้าสู่ระบบถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าปริมาณเหมาะสมก็จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เหมือนกับการปลูกข้าว ต้องมีน้ำเข้าสู่แปลงนาอย่างเหมาะสม น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็เกิดความเสียหายได้”
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่าการดำเนินการเรื่องนี้ ธปท. กับกระทรวงการคลังต้องทำงานร่วมกันเป็นเอกภาพ เป็นทีมเวิร์กช่วยกันทำงานให้นโยบายสอดประสานกัน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้าได้ เพราะนโยบายการเงินถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อสภาวะเศรษฐกิจมาก
เราคาดหวังว่า การทำงานเป็น “ทีมเวิร์ก” ของทุกภาคส่วนที่เป็นเครื่องมือสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปลุกให้ฟื้นขึ้นมาเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนคต ตามเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ดีกินดี