ประเด็นที่ “เลขาธิการพรรคเพื่อไทย” อย่าง “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ตั้งข้อสังเกตถึงการ “ปรับทัพ”ปรับโครงสร้างภายในพรรคพลังประชารัฐที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไป ว่าเนื้อแท้ไม่มีอะไรมากไปกว่า การเสริมจุดอ่อน เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ “กลุ่มผู้มีอำนาจ”ใช้พลังประชารัฐเป็น “ฐาน”เพื่อลุยการเมืองอย่างเต็มตัว อีกทั้ง ยังเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “สนามไชย1” เปิดตัวมาเป็น “หัวหน้าพรรค” ไม่ควร “ซ่อนตัว” อีกต่อไป “ เมื่อความจริงปรากฏชัดเจนมาถึงขนาดนี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรที่จะซ่อนตัวอยู่หลังพรรคการเมืองเฉพาะกิจนี้อีกต่อไป อุตส่าปรับทัพมาถึงขนาดนี้แล้วก็น่าที่จะลุกขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญของพรรค เพื่อเปิดหน้าทำการเมืองกันอย่างตรงไปตรงมาเพราะไม่มีอะไรจำเป็นต้องปิดบังกันต่อไปอีกแล้ว” (22 ธ.ค.2562) เพราะสิ่งที่น.อ.อนุดิษฐ์ ขยายความในลักษณะ “พุ่งเป้า” ไปยังตัวพล.อ.ประยุทธ์ ทวงถามว่า เมื่อใดจะเปิดตัวมานั่งในเก้าอี้ “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” เมื่อใด ? การปรับเปลี่ยนตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ในการประชุมใหญ่ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น หลักใหญ่ใจความ อาจไม่ได้อยู่ที่ “อุตตม สาวนายน” ยังนั่งในตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” หรือ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ยังได้รับวีซ่าให้นั่ง “เลขาธิการพรรค” ต่อ หลังจากที่ก่อนหน้านิ้มีข่าวลือที่ไม่ค่อยน่าพึงใจนักว่า เก้าอี้ “แม่บ้านพรรค”กำลังสั่นคลอน เพราะดันมีชื่อ “อนุชา นาคาศัย” แกนนำจากกลุ่มสามมิตร จ่อเบียดขึ้นมาชิงตำแหน่งของสนธิรัตน์ แต่สุดท้าย สนธิรัตน์ก็สามารถ ยิ้มออก เพราะทั้ง “บิ๊กตู่”และ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยอมให้ไฟเขียว นั่นหมายความว่า แท้จริงแล้ว ผู้ที่มีอำนาจตัวจริงเสียงจริง และ “ชี้ขาด” ทุกความเป็นไปภายในพรรค ย่อมไม่ใช่ทั้ง อุตตม และสนธิรัตน์ แต่อย่างใด การปรับทัพของพรรคพลังประชารัฐ รอบนี้ เมื่อไล่เรียงรายชื่อ โฉมหน้าแกนนำหลายคนที่ก้าวขึ้นมาผงาด ทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ แท้จริงแล้วไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องโฟกัสไปมากกว่าการบริหารคน เพื่อให้บริหารงาน รวมถึงการเร่งแก้ไขปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” และปัญหา “สภาล่ม” ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้งบิ๊กตู่และบิ้กป้อม ต้อง “ออกแรง” ส่งเสียงคำรามเพื่อสยบทุกปัญหาด้วยตัวเองมาแล้ว เมื่อหลายต่อหลายฝ่ายประเมินแล้วว่า สถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ต้นปีหน้า 2563 บรรยากาศจะเข้าสู่ความเข้มข้น ทั้งการเมืองนอกและในสภาฯ ทั้งอีเว้นท์การเมือง ม็อบกองเชียร์ และฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ที่ต่างประกาศโปรแกรม ทั้ง “วิ่ง ไล่ ลุง” ไปจนถึง “วิ่ง ตาม ลุง” กันอย่างคึกคัก ! การจัดทัพของพรรคพลังประชารัฐ ครั้งนี้ยังคงใช้รูปแบบการเล่น ในท่วงทำนองเดิมที่ไม่มีความหวือหวาหรือแปลกเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ที่น่าสนใจ กลับต้องเพ่งมองไปยัง “ผลงาน” ของ “แกนนำ” ที่มีชื่อ ผงาดขึ้นมานั่งในตำแหน่งสำคัญ ๆ ว่าจะสามารถ “เปิดดีล” ดึงส.ส.จากฝั่งตรงข้ามมาให้การสนับสนุนรัฐบาลกันได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่า เกมวิ่ง ไล่ ลุง นอกสภาฯ อาจจะยังไม่น่าวิตกเท่ากับการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งตัวนายกฯไปจนถึงรัฐมนตรี รายบุคคล เพราะต้องใช้วิธีโหวตเสียง “ไว้วางใจ” อีกทั้งความไว้วางใจในสภาฯ ยังจะมีผลต่อการเดินหน้าบริหารงานของรัฐบาล ไปด้วยโดยปริยาย นั่นหมายความว่าภาระหน้าที่หลัก และเร่งด่วนคือการเร่งหา “งูเห่า” เพื่อมาตุนคะแนนโหวต รับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จ่อคิว จะเปิดศึกในต้นปีหน้า !