แม้สถานการณ์ขยะทะเลและพลาสติกในประเทศไทย จะมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยได้รับการปรับอันดับลงจากที่เคยวิกฤติติดอันดับ 6 ของโลก มาอยู่ที่อันดับ 10 หลังจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ร่วมมือร่วมใจกันตระหนักและตื่นตัวในการลดใช้ถุงพลาสติก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ใช่ตัวเลขที่น่าพอใจนัก ก่อนหน้านี้ มีถ้อยแถลงของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าในงาน SEA of Solution 2019 – on Partnership week for marine plastic pollution prevention in South East Asiaที่น่าสนใจระบุว่า ประเทศไทย ถือเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเล โดยในคราวการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนนัดพิเศษ ในช่วงกลางปี 2562 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ในการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยได้เดินหน้าปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศ นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำแนวคิด 4Rs ได้แก่ Rethink, Reduce, Reuse และ Recycle รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการจัดการ สิ่งสำคัญ คือ การเปลี่ยนทัศนคติความคิดของคนให้เกิดความตระหนักต่อปัญหามลพิษขยะ ตัวอย่างเช่น ในวันเทศกาลลอยกระทง เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา กทม. สามารถเก็บกระทงได้รวมทั้งสิ้น 502,024 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 18,760 ใบ ที่สำคัญ คือ กระทงโฟม เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561 ลดลงถึง 26,123 ใบ หรือคิดเป็นร้อยละ 58.2 และอีก 1 กิจกรรมสำคัญที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 กว่า 50 องค์กรกลุ่มธุรกิจการค้ารายใหญ่ของประเทศ จะยกเลิกการให้ถุงพลาสติกให้แก่ผู้บริโภค และในปี พ.ศ. 2564 ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวจะถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ ตาม Roadmap ด้านการจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) ที่ประเทศไทยได้ประกาศแล้ว สุดท้ายได้ขอให้ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง โดยประเทศไทยมีความพร้อมอย่างยิ่งในการเป็น ASEAN Marine Debris Monitoring Center และเป็นประเทศผู้นำในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้ง ได้แสดงความมั่นใจว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษขยะอย่างยั่งยืน ต่อไป “ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของไทย ทั้งด้านภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ได้มีส่วนร่วมกันผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดการขยะ ทั้งขยะบก และขยะทะเล จะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด ซึ่งเราจะเห็นได้จากความร่วมมือของภาคธุรกิจ ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเด่นชัด ที่จะไม่แจกถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป” ถือเป็นความชัดเจนของภาครัฐ ผ่านท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดับเครื่องชนกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต ในขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาสะท้อนจากการตายของสัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตวทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล โลมา และวาฬ ที่มีสาเหตุมาจากขยะ เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้สังคมหันมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสั่งสมมายาวนาน เราคาดหวังว่าการสูญเสียจะลดลงหรือกลายเป็นศูนย์ได้ในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่สมดุลระบบนิเวศจะค่อยๆฟื้นคืนกลับมา