ถือเป็นการนับหนึ่งสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับคสช.ที่น่าจะเรียกเรทติ้งให้กับฝ่ายรัฐบาลไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อล่าสุดโฉมหน้าของ “49อรหันต์” ปรากฎชื่อในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ครบถ้วนจากโควต้าทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และรัฐบาล
โดยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.62ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วยคะแนนเสียง 445 เสียงโดยไม่มีผู้ใดออกเสียงคัดค้าน พร้อมกันนี้ยังได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการฯทั้ง 49 คนเพื่อศึกษา ใช้เวลาทั้งสิ้น 120 วัน นัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 24 ธ.ค.นี้
การขานรับให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะได้รับการสนองตอบจาก “ทุกฝ่าย” เป็นที่น่าพอใจแล้ว ยังต้องจับตากันต่อไปอีกหลายช็อตว่า ฝ่ายที่ “ได้ประโยชน์” มากที่สุด จะกลายเป็น “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มากกว่าใครเพื่อนด้วยหรือไม่ ?
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ หากพูดถึงวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้าน อ้างว่านี่คือรัฐธรรมนูญฉบับคสช. เพราะร่างขึ้นมาโดย “แม่น้ำ” ในมือของคสช. อย่างคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จนกลายเป็น “กติกา” ที่ถูกนำมาใช้จนถึงวันนี้ ก็มักจะกลายเป็น “ชนวน” ที่ปลุกเร้าให้บรรยากาศการเมืองคุกรุ่น กลายเป็นประเด็นที่กดดันพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลอยู่ร่ำไป
เพราะหลายฝ่ายไม่เชื่อว่า อดีตหัวหน้าคสช. อย่างพล.อ.ประยุทธ์ จะยินยอมให้มีการ “รื้อ” รัฐธรรมนูญฉบับที่ตัวเองส่งกรธ. ร่างขึ้นมากับมือ
ฝ่ายค้านทั้ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคอนาคตใหม่” ต่างมั่นใจว่าจะใช้จุดอ่อนของพล.อ.ประยุทธ์ สร้าง “รอยร้าว” ตอกลิ่ม ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ เพราะอย่าลืมว่า ประชาธิปัตย์ชูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการหาเสียง จนกลายเป็นเหมือนสัญญากับพี่น้องประชาชน
แต่แล้ว ดูเหมือนว่าสถานการณ์พลิกผัน เมื่อทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เปลี่ยนแผนการเล่น หาทาง “ตัดวงจร” ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ไฟเขียวจาก “บิ๊กรัฐบาล” ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการผ่อนปรน ลดแรงเสียดทานระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ เพื่อประคับประคองให้การอยู่ร่วมรัฐบาลเดินหน้าต่อไปด้วยความราบรื่น จะเกิดขึ้นตามมา
เพราะอย่างน้อยที่สุด ฝ่ายพลังประชารัฐได้แสดงความจริงใจให้ประชาธิปัตย์ได้เห็นแล้วว่า ไม่ได้ขัดขวาง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน การตั้งคณะกรรมาธิการฯ ในยกแรก ยังเป็นการเรียกเรทติ้งให้กับพล.อ.ประยุทธ์ เองที่จะกลายเป็น “ยันต์” ป้องกันไม่ให้ฝ่ายค้านหยิบมาใช้โจมตีทั้งในและนอกสภาฯได้อีก
อย่างไรก็ดี เกมแก้รัฐธรรมนูญในมือรัฐบาลที่กำลังจะเริ่มนับหนึ่งจากนี้ไป ยังเท่ากับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นาทีนี้พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ “การเมือง” ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาล ไปจนถึง “สยบ” แรงต้านจาก “ฝ่ายค้าน” อย่างน้อยสถานการณ์ก็จะ “สงบนิ่ง”ไปได้อีกพักใหญ่
ส่วนคำตอบสุดท้ายจะออกมาในแนวทางที่ว่า “แก้ ก็เหมือนไม่แก้” นั่นคือไม่มีความคืบหน้าและเกิดเป็นรูปธรรมได้จริง ตามที่หลายฝ่ายกำลังคาดการณ์กันเอาไว้ หรือไม่นั้น ต้องบอกว่า “คำตอบ” นั้นชัดเจน ทั้งหมดอยู่แล้ว สุดแท้แต่ว่า “ใคร”จะอ่านเกมออกก่อนกัน !