ท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่ตึงเครียด ประเด็นปัญหาเศรษฐกิจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของการบริหารประเทศของรัฐบาล เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะเดียวกันก็กลายเป็นปัจจัยในการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ยกระดับไปสู่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตัวเลขเศรษฐกิจไม่เป็นที่น่าพอใจ กระนั้นล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัว 2.4% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2562 0.1% รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5% ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.62 จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,205 รายทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.2 ในเดือนตุลาคม โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.62 เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยวันทำงานที่น้อยกว่าปกติในช่วงเดือนธ.ค.62 ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่น อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม เป็นต้น สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 101.3 ลดลงจากระดับ 102.9 ในเดือนต.ค.62เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบในอุตสาหกรรม แปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกลดลง แต่หากสหรัฐฯและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันได้จะทำให้การส่งออกของไทยมีทิศทางดีขึ้น ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้วิเคราะห์ทิศทาง 15 อุตสาหกรรมไทยในปี 2563 โดยอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว จะมีอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร เฟอร์นิเจอร์ ปิโตรเคมี เครื่องสำอางค์ ปูนซิเมนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนอุตสาหกรรมที่ทรงตัว ได้แก่ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนอุตสาหกรรมชะลอตัว ได้แก่ เหล็ก เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์หนัง โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ส.อ.ท.มีความเห็นว่าภาครัฐควรหาแนวทางช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการเช่น พิจารณาปรับลดค่าสาธารณูปโภคชั่วคราว ภายหลังจากการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันที่ 1 ม.ค.63 เพื่อชดเชยค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น และขอให้ภาครัฐส่งเสริมสินค้า Made in Thailand ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจที่กราฟเริ่มขยับหัวขึ้น และดัชนีควมเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่กระเตื้องในรอบ 6 เดือน ล้วนเป็นสัญญาณที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ ที่เราคาดหวังว่าจะสามารถประคับและคองให้กราฟขยับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่าให้สะดุดด้วยปัจจัยจากทั้งภายนอก และภายใน