"จะไม่มีใครมากล่าวหาในภายหลังว่า คสช. เป็นผู้ทำเอง การทำประชามติจะได้ไปอธิบายให้ประชาชน หากเข้าใจเขาก็จะเป็นเกราะให้แก่ผู้ร่าง และ คสช. ได้" คือถ้อยคำที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะการมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ถึงความจำเป็นในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลของการทำประชามติปรากฎว่าประชาชน 16 ล้านเสียงลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ
แต่กระนั้น ในทัศนคติของฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ยังมองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็น "มรดก" ของคสช.อยู่ดี ยิ่งวาทะของนักการเมืองซักรัฐบาลที่ว่า "รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา"กลายเป็นตราประทับรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย
เมื่อมองมาที่เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเคลื่อนไหว ประลองกำลังกันของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในปัจจุบัน แม้เบื้องต้นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีเจตน์จำนงค์ร่วมกันในการที่จะแก้ไข แต่ท่าทีของรัฐบาลนั้นไม่ได้กระตือรือร้นเท่าใดนัก ยิ่งตอกย้ำถึงถ้อยคำว่า "รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" สะท้อนความได้เปรียบในสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ในการลงนามในสัตยาบัน กับ แกนนำ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในงานเสวนา "พรรคการเมืองร่วมใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่ห้องประชุม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2562ผ่านมา
โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า ขอบคุณฝ่ายค้านทุกพรรคและประชาชนทุกคนที่สนับสนุนให้กำลังใจพวกเราซึ่งเป็นพลังให้ตนและพรรคอนาคตใหม่ก้าวเดินต่อไปเพื่อตอบสนองแรงสบับสนุนเหล่านั้น ตนยืนยันที่จะต่อสู้ และจะไม่ทรยศต่อประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน สิ่งที่เราต่อสู้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการต่อสู้กับระบอบซึ่งระบอบนี้คือระบอบที่ต้องการแช่แข็งไม่ให้ประเทศไทยไปข้างหน้า พวกเขาพร้อมทำทุกอย่างและทุกวิถีทาง โดยไม่สนต้นทุนของสังคมที่ต้องจ่ายเป็นอย่างไรและต้นทุนเหล่านั้นที่ต้องจ่าย ผู้ที่จ่ายคือประชาชน ระบอบนี้ ยังทำให้ประชาชนแตกแยก ระแวง และเกลียดชังกันเองอีกด้วย ความเกลียดชัง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ความเกลียดชังนี้ จงใจสร้างขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ หน้าที่ของเขาต้องการปลุกระดม ทำให้ประชาชนเกลียดชังกัน นอกจากการแช่แข็งประเทศไทยแล้ว ยังทำให้ระบอบรัฐสภาพังไปอีกด้วย และพยายามทำให้ประชาชนเกลียดนักการเมือง
เราต้องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง การปฏิรูปคือ การจัดสรรอำนาจ แต่การปฏิรูป หรือ การรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่เขาทำเป็นการดึงอำนาจเข้าหาตัวเอง ทำให้ประเทศไทยไม่เดินไปข้างหน้า ถึงเวลาแล้ววันนี้ที่เราต้องหาข้อตกลงร่วมกัน ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดทางเดียว ที่เหลืออยู่ในสังคมไทยสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียง2ทางคือแก้ด้วยเลือด หรือ แก้ด้วยการยินยอมพร้อมใจกันของทุกฝ่าย นี่เป็นเวลาของการแสดงจุดยืน ไม่ใช่เวลามาเกรงใจ หรือเขินอาย เราต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของคสช. เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และเพื่อประชาชน
น่าสนใจการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้ง ไปพร้อมๆกับกระบวนการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคจากกรณีกู้เงินจากนายธนาธร ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 7 พรรคฝ่ายค้านและกระบวนการต่อสู้ของพรรคอนาคตใหม่ที่เคลื่อนไหวนอกสภาฯ อย่างแยกกันไม่ออก ซึ่งฝ่ายค้านจักต้องระวังไม่ให้น้ำหนักเรื่องหนึ่งไปทำลายความชอบธรรมของอีกเรื่องหนึ่งอย่างสิ้นเชิง