เหตุการณ์พรรคอนาคตใหม่นัดทำกิจกรรมแฟลชม็อบ ที่ลานสกายวอล์ก ปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีกู้เงิน 191 ล้านบาท จากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอว่ามีความผิดตามมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า ไทยอาจเดินซ้ำรอยฮ่องกง ที่การประท้วงยืดเยื้อยาวนานมากว่า 6 เดือนแล้ว ท่ามกลางความพังพินาศของเศรษฐกิจ
ประสานกับเสียงที่บรรดาแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ท ออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยกลับมาอึมครึมอีกครั้ง
กระนั้น วันก่อนกลับมีข่าวดีออกมา โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า
บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) ซึ่งเป็นการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยให้ดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับจากปี 53 ที่ไทยคงระดับมีเสถียรภาพมาโดยตลอด โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ และระยะสั้นที่ A-2 รวมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาวที่ A- และระยะสั้นที่ A-2
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกของประเทศไทยมาจากภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา และการมียุทธศาสตร์ชาติก็เป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองที่น่าจะส่งผลดีกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและการบริหารงาน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนระยะต่อไป S&P ประเมินว่า สิ่งที่ต้องติดตาม คือผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย
“ช่วงที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำ ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อ ก.ค.62 บริษัท Fitch Ratings และบริษัท Moody’s Investors Service ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ BBB+ และ Baa 1 ตามลำดับ และต่อมาเมื่อเดือน ต.ค.62 บริษัท Rating and Investment Information, Inc.ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยดีขึ้นจากระดับ BBB+ มาเป็น A- สะท้อนถึงความเชื่อมั่น ของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย”
ส่วนการปรับมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆนั้น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวดีที่ต่างชาติให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย แต่ภายในกลับมีเสียงสะท้อนของความไม่เชื่อมั่น และกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากสถานการณ์ทางการเมืองยังตึงเครียดและเขม็งเกลียวขึ้นเป็นลำดับเช่นนี้ กระแสความเชื่อมั่นที่ต่างชาติมีแต่เศรษฐกิจไทยก็อาจไม่ได้อานิสงส์เท่าใดนัก และอาจส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุน