ทีมข่าวคิดลึก หลังสิ้นสุดโหมดการทำประชามติผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น ไร้แรงต่อต้านส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองเต็มไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะเป็นความคึกคัก เมื่อทุกฝ่าย ต่างเปลี่ยนโหมดเข้าสู่การเตรียมความพร้อมลงสนามเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่ถูกกำหนดเอาไว้ตามโรดแมป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แม้ในห้วงเวลาจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดย"มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรธ. เองได้เตรียมนับหนึ่งเริ่มต้นกระบวนการขั้นตอนหลังประชามติ ไปจนถึงการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วจะใช้ระยะเวลานานหลายเดือนก็ตาม แต่สำหรับ"นักการเมือง"ตลอดจน "ผู้เล่น"ที่หวังจะได้แจ้งเกิดในสนามเลือกตั้งรอบหน้าไม่อาจรีรอ ได้อีกต่อไป และถึงแม้จะมีกระแส"เซตซีโร่"ด้วยการให้ทุกพรรคการเมืองต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ในท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า เกมเซตซีโร่นี้มีขึ้นมาเพื่อหวัง"ย่อยสลาย" สองพรรคการเมืองใหญ่ ทั้ง"ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย" จากนั้นจะเปิดทางให้ พรรคหน้าใหม่ พรรคเล็กน้อยเข้าสู่สังเวียน ก่อนที่จะเดินไปสู่แผนการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. แน่นอนว่ากระแสข่าวในลักษณะดังกล่าว ดูจะไม่เป็นผลดี ต่อ คสช. มากนัก เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.และ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่างออกมาประสานเสียงยืนยันว่า คสช.จะไม่มีการสืบทอดอำนาจ ตามที่มีบางฝ่ายต้องการหยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นมาดิสเครดิต คสช.เพื่อหวังให้เกิดกระแส "คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ" ในการลงประชามติเมื่อว้นที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า มีบางกลุ่ม บางฝ่ายที่ไม่อาจเก็บงำ เป้าหมายของตัวเองเอาไว้ จึงต้องเปิดตัว ประกาศตั้งพรรคการเมืองขึ้นอย่างในกรณีของ "ไพบูลย์ นิติตะวัน"อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)แถลงข่าวตั้ง "พรรคประชาชนปฏิรูป"โดยมีเจตนารมณ์ 3 ประการ 1.พรรคจะปฏิรูปพรรคการเมืองและนักการเมือง เพื่อทำให้การเมืองประเทศไทยดีขึ้น ไม่ซ้ำรอยกับการเมืองที่ผ่านมาที่เป็นระบบนายทุน เจ้าของบริษัท 2.พรรคจะปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้มีความบริสุทธิ์ และดีงาม และ 3. พรรคจะปฏิรูปโดยการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนโดยจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ประเด็นที่สำคัญและกลายเป็น"ชนวน" เรียกแขกให้กับ คสช. คือการส่งสัญญาณจากไพบูลย์ว่าพรรคพร้อมให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ส่งผลให้ชื่อของบิ๊กตู่ กลายเป็น "เป้าโจมตี"ในทางการเมืองทันที เพราะไม่ว่า งานนี้ ไพบูลย์ จะประสงค์ดี หรือหวังร้ายต่อคสช. ก็ตาม แต่ที่สุดแล้วก็ทำให้เกิดคำถามที่ย้อนกลับทั้งเรื่องความชอบธรรม และการสืบทอดอำนาจของ คสช.ภายใต้การกำหนดเกมการเล่น หลังกุมชัยชนะจากประชามติ การประกาศตั้งพรรคการเมืองของไพบูลย์ อดีต สปช.ที่มีความเชื่อมโยงกับ กปปส. อีกสถานะหนึ่งนั้นยังได้ส่งผลกระทบไปยัง กปปส.อีกด้วยเช่นกันว่า แท้ที่จริงแล้วการตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปครั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่เป็น "นอมินี" ให้กับทั้ง กปปส.และ คสช.อย่างนั้นหรือ ? ยิ่งเกิดคำถามมากเท่าใด ยิ่งเกิดเสียงอื้ออึงมากแค่ไหน ยิ่งทำให้ คสช.และ กปปส.ในฐานะพันธมิตรแนวร่วมยิ่งตกเป็นเป้านิ่งก่อนถึงเวลาอันควรมากเท่านั้น !