ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินออกมาแล้วว่าเศรษกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.5 % ลดลงจากเดิมที่ประเมินไว้ 2.8% จากปัญหาการชะลอตัวของการส่งออก ผลของสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงการลงทุนโดยรวมที่โตต่ำกว่าประเมิน และยังมีปัจจัยความล่าช้าของการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขณะที่คาดการณ์ในปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.7% (กรอบประมาณการ 2.5%-3.0%) โดยหวังแรงหนุนจากภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน บนเงื่อนไขสำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุด้วยว่า ในกรณีที่สถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และมีผลลบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชน ก็อาจทำให้จีดีพีปีหน้าวิ่งเข้าหากรอบล่างของประมาณการที่ 2.5% หรือต่ำกว่านั้น ในขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง เพราะตลาดส่งออกหลักยังมีทิศทางชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอนาคตอันใกล้ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าที่คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนค่า อีกด้านหนึ่ง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยว่า ไตรมาส 3/2562 จำนวนผู้มีงานทำลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 38.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 38 ล้านคน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติโดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร ลดลง 2.3% จาก 25.5 ล้านคนมาอยู่ที่ 24.9 ล้านคน เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ5 ไตรมาส ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการผลิต สาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาก่อสร้าง ลดลง 5.2% 4.1% และ 2.2% ตามลำดับ ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง/คลังสินค้า เพิ่มขึ้น 3.1% และ 1.0% ตามลำดับจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก ส่วนการจ้างงานภาคเกษตร ลดลง 1.8% จาก 12.8 ล้านคน มาอยู่ที่ 12.6 ล้านคน เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ ส่วนอัตราการว่างงานไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 1.04% หรือ 3.94 แสนคน เพิ่มขึ้น 5.5% โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งผู้ที่เคยทำงานมาก่อน เพิ่มขึ้น 8.4% สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ที่พบว่า ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ณ วันสิ้นไตรมาส 3/2562 มีจำานวน 172,412 คน เพิ่มขึ้น 13.5% และกลุ่มผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน เพิ่มขึ้น 3.0% ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยพบว่าผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุด 2.15% รองลงมาเป็นผู้จบอาชีวศึกษา วิชาชีพชั้นสูง มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า นอกจากนี้ พบว่าอัตราว่างงานผู้จบระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น มีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มุมมองของสภาพัฒน์ ยังเห็นว่าแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานในไตรมาส 4/2562 มากนัก เพราะภาพรวมชั่วโมงการทำงานไตรมาส 3 เฉลี่ยยังทรงตัวอยู่ที่ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อัตราการว่างงานเฉพาะเดือน ต.ค.ที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.9% คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคนแต่ยังคงติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิดรวมทั้งการติดตามตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อแรงงาน กระนั้น ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตัวเลขการว่างงานที่ออกมานั้น ยังคงน่าเป็นห่วง ถือเป็นโจทย์หินของรัฐบาลที่ต้องเร่งหา “ยาแรง” มาแก้ไขปัญหา คู่ขนานไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจก่อนจะซึมยาว