เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
เอาซ์วิตช์ (Auschwitz) เป็นชื่อค่ายกักกัน ค่ายทำลายล้างที่โหดเหี้ยมที่สุดของนาซีเยอรมัน (1940-1945) “ที่ฆ่าคนไปกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นยิว นักโทษการเมือง นักโทษจากประเทศต่างๆ ผู้ต่อต้านรัฐบาล บรรดาเพศที่สาม คนพิการ และอื่นๆ จากทั่วยุโรป”
“สถานที่แห่งนี้องค์การยูเนสโกยกให้เป็นมรดกโลก เพื่อให้อนุรักษ์ไว้เตือนสติมนุษยชาติ เพราะมีคนตายด้วยการถูกรมแก๊ส ตายเพราะความหิว ความหนาว โรคระบาด ถูกทดลองยา ตายเพราะถูกให้ทำงานหนัก”
ข้อความเหล่านี้ยกมาจากคำกล่าวของนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ที่ไปเยี่ยมสถานที่แห่งนี้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา และได้พูดนานถึง 15 นาที ต่อหน้าผู้รอดชีวิตจากค่ายแห่งนี้จำนวนหนึ่ง
นับเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีหญิงท่านนี้ไปที่นั่นหลังจากอยู่ในตำแหน่งมาถึง 14 ปี แม้ว่าเธอไม่ใช่ผู้นำเยอรมันคนแรกที่ไปยืนอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ แต่ปาฐกถาของเธอกินใจยิ่งนัก และสื่อในและต่างประเทศต่างก็ชื่นชม และเห็นว่า เหมาะสมแล้วที่เธอไป เพราะสถานการณ์เหยียดเผ่าพันธุ์และเกลียดชังยิวกำลังคุกรุ่นในประเทศเยอรมนีและในยุโรป
นายกรัฐมนตรีหญิงเริ่มต้นโดยสารภาพว่า เธอรู้สึกอับอายต่อ “อาชญากรรมที่ป่าเถื่อน ที่คนเยอรมันได้กระทำ คืออาชญากรรมที่เกินกว่าคำบรรยายใดๆ ...อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เราจะเงียบไม่ได้ สถานที่แห่งนี้บังคับให้เราจดจำอาชญากรรมนี้ และจะต้องเน้นอย่างชัดเจน”
เธอบอกว่า เมื่อปี 1939 เอาซ์วิตช์ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอมัน เอาซ์วิตช์จึงเป็นค่ายกักกันเพื่อการทำลายล้างของเยอรมัน เธอบอกว่าต้องย้ำเรื่องนิ้เพื่อว่า คนเยอรมันต้องรับผิดชอบต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
เธอพูดต่อไปว่า เยอรมันต้องรับผิดด้วยจิตสำนึกในฐานะสังคมอุดมปัญญา สังคมเสรี เป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐ และอ้างถึงรัฐธรรมนูญเยอรมันที่มีอายุเกือบ 70 ปีว่า ได้รับบทเรียนและอิทธิพลอย่างสำคัญจากเหตุการณ์ที่เอาซ์วิตช์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี
แต่เธอก็ย้ำว่า “แม้เราจะตระหนักถึงคุณค่าอันล่วงละเมิดมิได้ของศักดิ์ศรีมนุษย์ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และนิติรัฐ แต่เราก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเปราะบาง เราจึงต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อปกป้อง คุ้มครองและทำให้คุณค่าเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น โดยภารกิจประจำวัน โดยงานของรัฐและงานทางการเมือง”
เธอบอกว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่วาทศิลป์ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันยังมีการเหยียดเผ่าพันธุ์ เกลียดชังยิว การไม่ยอมรับความแตกต่างที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมที่น่าเป็นห่วง ยังมีการโจมดีคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตยเสรี บิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อปลุกเร้าความเกลียดชังคนบางกลุ่ม อย่างการต่อต้านชาวยิวในเยอรมันซึ่งยังคงมีอยู่ในเยอรมันและในยุโรป”
นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมันกล่าวในตอนท้ายว่า “เราไม่อาจเรียกชีวิตที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ เราไม่สามารถลบล้างประวัติศาตร์อันเลวร้ายที่เราได้ก่อนี้ได้ มันจะป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เยอรมัน ที่เราจะต้องจดจำและไม่ทำให้เกิดขึ้นอีกในทุกรูปแบบ”
“เราคต้องเล่าเรื่องนี้วันนี้และพรุ่งนี้ เพื่อให้เราเคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ละคน เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้...ที่ได้สูญเสียทุกอย่าง ครอบครัว เพื่อน บ้านเกิด และบ้านเรือน ความหวังต่างๆ และแผนชีวิต ความเชื่อมั่นและความสุข – และศักดิ์ศรีของพวกเขา”
เธอย้ำเรื่อง “ศักดิ์ศรีของคน” หลายครั้งในปาฐถานี้ว่า ผู้เคราะห์ร้าย “แต่ละคนมีชื่อ มีศักดิศรี มีที่มา มีประวัติ....ที่สถานที่แห่งนี้ได้ทำลายจนหมดสิ้น” นี่คือที่มาของมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญเยอรมันที่บอกไว้ว่า
“ (1) ศักดิ์ศรีของคนมิอาจละเมิดได้ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเคารพและปกป้อง (2) ประชาชนเยอรมันยอมรับว่า สิทธิมนุษยชนที่ล่วงละเมิดมิได้และไม่แปลกแยกนี้ คือพื้นฐานของประชาคมทุกแห่ง ของสันติภาพและสันติภาพของโลก”
เอาซ์วิตช์ไม่ใช่บทเรียนของเยอรมันเท่านั้น แต่ของโลก ของไทยด้วย ที่วันนี้ยังเต็มไปด้วยแนวคิดสุดโต่งของการแบ่งแยก เหยียดหยาม ไม่ยอมรับความหลากหลาย ความแตกต่างทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง ความเชื่อ ศาสนา เผ่าพันธุ์ คนรวย คนจน ชาวเขา ชาวเรา คนลาว คนเขมร คนพม่า
โลกไม่เคยเรียนรู้ สงครามโลกเพิ่งจบลง คร่าชีวิตคนไป 70 ล้าน ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเพียงสองแห่ง ตายไปด้วยระเบิดปรมณูรวมกันมากว่าสองแสน บาดเจ็บพิการอีกหลายแสน ตามมาด้วยสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม อัฟกานิสถาน อิรัก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแอฟริกา ในยูโกสลาเวีย และล่าสุดกรณีโรฮิงยา
ทั่วโลกยังไม่ได้มีการสารภาพและเรียนรู้ ที่บ้านเรายังมีคนถูกฆ่า ถูกทำร้ายที่ภาคใต้หลายปีที่ผ่านมา ไม่มีใครรับผิด โทษกันไปมา ยังปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังด้วยคำพูดและการกระทำหลายรูปแบบ ทางการเมืองไม่มี “สุนทรียเสวนา” มีแต่ การปลูกเร้าให้เกีลยดชัง (hate speech)
รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญควรเรียนรู้จากเยอรมันว่า รัฐธรรมนูญดีแค่ไหนก็ไม่ได้รับประกันศักดิ์ศรีของมนุษย์ อยู่ที่ความคิดและการกระทำมากกว่า ดูพรรคการเมืองที่นั่นบางพรรคกับขบวนการนาซีใหม่ เกิดภายใต้รัฐธรรมนูญดีๆ นั้นได้อย่างไร คือเบื้องหลังความรุนแรงและอาชญากรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น