มรสุมลูกใหญ่ที่กำลังถาโถมเข้าใส่ “2พรรคใหญ่” ทั้ง “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ต้องยอมรับว่า เป็นสถานการณ์ที่หนักหนาสาหัสเอาการ และดูจะเป็นเรื่องยาก ทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่จะฝ่าคลื่นลมครั้งนี้ไปได้ โดยที่ไม่ต้องสูญเสีย ไพร่พล ทั้งระดับ “ทหารหน้าค่าย” ไปจนถึง “ขุนพล”ตัวหลัก ต่างกรรม ต่างวาระ แต่ต่างต้องเผชิญหน้ากับภาวะ “ ขาลง”ด้วยกันทั้งคู่ ! จากปัญหาภายใน จนกลายเป็น “แผลเรื้อรัง” ลุกลามขยายวง และที่สำคัญ กลับส่งผลกระทบต่อตัวเองมากกว่าใครเพื่อน ! การตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่บัดนี้เขากลายเป็นเพียง อดีตสมาชิกพรรคและอดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งความทรงจำ ประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับประชาธิปัตย์มายาวนานเกือบ 30 ปี ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ปกติ ธรรมดา เพราะแม้ พีระพันธุ์ ไม่ใช่นักการเมืองสายบู๊ แต่เขาเองมีจุดยืนและประกาศในสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างชัดแจ้ง ทั้งการประกาศตัวปกป้องสถาบัน ไปจนถึงการแสดงความตั้งใจที่จะฟื้นฟูพรรค จึงประกาศตัวลงชิงเก้าอี้ “หัวหน้าพรรค” จาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคคนก่อน การลาออกของพีระพันธุ์ ไม่ได้ยุติลงเพียงแค่การสิ้นสถานะ การเป็นสมาชิกพรรค และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เท่านั้น แต่กลับเกิดคำถามใหม่ ตามมาทันทีว่า “เกิดอะไรขึ้น ที่พรรคประชาธิปัตย์” จึงทำให้ ระดับแม่ทัพนายกอง ทยอยทิ้งพรรคกันไม่ขาดสาย ทั้ง กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เมื่อราวเดือนมิ.ย. ต่อมาถึง คราว “หมอวรงค์”นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ที่เพิ่งยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคไปหมาดๆเมื่อราวปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา แต่การไปของหมอวรงค์ มีความชัดเจนว่า เลือกย้ายไปอยู่กับ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ท่ามกลางข่าวลือมาก่อนหน้านี้ว่าหมอวรงค์ เตรียมแต่งรอขึ้นนั่งในเก้าอี้ “รัฐมนตรี” จนมาถึงคิวของพีระพันธุ์ อดีตผู้พิพากษา ที่ต้องบอกว่าทำงานกับพรรคมายาวนาน ก็มีอันต้องจากลา เป็นรายล่าสุด ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการความพ่ายแพ้จากการชิงหัวหน้าพรรค ที่เกิดรอยร้าวจนคุกรุ่นกันอยู่ภายใน อย่างไรก็ดีในกรณีของพีระพันธุ์ นั้นถูกคาดการณ์ว่า น่าจะไปร่วมงานกับ “พรรคพลังประชารัฐ” มากกว่าที่จะตามหมอวรงค์ ไปอยู่กับ “ลุงกำนัน” เนื่องจากมีรายงานว่า ก่อนการตั้งรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” นั้น พีระพันธุ์ ได้รับการทาบทามจาก “แกนนำ” ทั้งในรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ให้มาทำงานร่วมกัน แต่ในครั้งนั้นพีระพันธุ์ ยังไม่ได้ตัดสินใจ และเลือกที่จะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป แต่เมื่อสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์เริ่มเข้าสู่โหมดของความขัดแย้งกันเองมากขึ้น เมื่อ แกนนำของพรรคที่ได้เป็นรัฐมนตรีเองก็ต่างคนต่างอยู่ ประกอบกับรอยร้าวเดิมที่เคยเกิดศึกหลายเส้าเมื่อคราวเปิดหน้าชิงอำนาจกับขั้วของอภิสิทธิ์ ยิ่งปะทุมากขึ้น จึงทำให้การตัดสินใจของพีระพันธุ์ ครั้งสุดท้ายมาถึง ประเด็นที่น่าสนใจจากนี้จะอยู่ที่ว่า พีระพันธุ์ จะยืนอยู่ในจุดใด ในท่ามกลางกระแสข่าว “ปรับครม.”สะพัดหนัก ทั้งเพื่อ “สั่งสอน” พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่ “คุมกันเอง”ไม่อยู่ บวกกับถึงคราวที่ “ผู้นำรัฐบาล” ต้องการรีด “ผลงาน” จากทุกกระทรวง จากทุกพรรคร่วมรัฐบาล หลังนั่งบริหารประเทศมากว่า 6 เดือน ยิ่งต้องจับตาว่า พีระพันธุ์ จะกลับมาผงาดในเก้าอี้ตัวใด ตัวหนึ่งในครม. “ประยุทธ์2/2” หรือไม่ !