ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 แบ่งเป็น10 ระดับ จำนวน 5 และ 6 บาท แบ่งเป็น 10 ระดับได้แก่ ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัดคือ ชลบุรี และภูเก็ต ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัดคือ ระยองระดับที่ 3 ค่าจ้าง 331 บาท มี 6 จังหวัดคือกรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ระดับที่4 ค่าจ้าง 330 บาทคือ ฉะเชิงเทรา ระดับที่5 ค่าจ้าง 325 บาท มี 14 จังหวัดคือกระบี่, ขอนแก่น, เชียงใหม่, ตราด, นครราชสีมา, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, ลพบุรี, สงขลา, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, หนองคาย และอุบลราชธานีระดับที่ 6 ค่าจ้าง 324 บาทมี 1 จังหวัดคือ ปราจีนบุรี ระดับที่ 7 ค่าจ้าง 323 บาท มี 6 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์,จันทบุรี, นครนายก, มุกดาหาร, สกลนครและสมุทรสงคราม ระดับที่ 8 ค่าจ้าง320 บาท มี 21 จังหวัดคือ กาญจนบุรี,ชัยนาท, นครพนม, นครสวรรค์, น่าน,บึงกาฬ, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พัทลุง,พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, พะเยา,ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, สระแก้ว, สุรินทร์,อ่างทอง,อุดรธานี และอุตรดิตถ์ ระดับที่ 9 ค่าจ้าง 315 บาท มี 22 จังหวัดคือ กำแพงเพชร, ชัยภูมิ, ชุมพร,เชียงราย, ตรัง, ตาก, นครศรีธรรมราช,พิจิตร, แพร่, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน,ระนอง, ราชบุรี, ลำปาง, ลำพูน, ศรีสะเกษ, สตูล, สิงห์บุรี, สุโขทัย, หนองบัวลำภู,อุทัยธานี และอำนาจเจริญ และระดับที่ 10 ค่าจ้าง 313 บาทมี 3 จังหวัดคือ นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา โดยเฉลี่ยฐานของค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 321.09 บาท ทั้งนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีข่าวออกมาก็มีความเห็นที่หลากหลาย จากทั้งฝ่ายผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการและฝ่ายการเมือง มีทั้งบอกว่าน้อยเกินไป และทวงสัญญารัฐบาลที่ในช่วงหาเสียง ประกาศนโยบายจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท ในขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่า ปรับขึ้นในอัตราที่สูงเกินไป ไม่เหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์ของผู้ประกอบการในปัจจุบันไม่สู้ดีนัก ในขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ไม่สดใส กระนั้น ในมุมมองของนายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่าดูอัตราสูงสุดที่ขึ้น 6 บาท มีเพียง 9 จังหวัด ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนักกับกิจการ เพราะคำนวณแล้วจ่ายต่อเดือนไม่มาก แต่กรณีเพิ่มในอัตรา 5 บาทถือว่าเหนือความคาดหมายนิดหน่อย เพราะเคยคิดว่าจะมีการปรับเพิ่มเพียง 2-3 บาทเท่านั้น ดังนั้นเพิ่มมา5 บาทถือว่าเป็นโบนัสให้คนทำงานได้ อาจส่งผลกระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางที่กำลังปริ่มน้ำที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น 50-60 คนขึ้นไป ซึ่งจะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้มีกระแสการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าประมาณ 1 ปี น่าจะสามารถปรับตัวกันได้ “การประกาศออกมาแต่ละครั้งมีผลกระทบทำให้ค่าครองชีพขึ้นไปรอแล้วเหมือนที่ก่อนหน้านี้รัฐออกมาส่งสัญญาณว่าจะปรับเพิ่ม สุดท้ายไม่เพิ่มในขณะที่ค่าครองชีพขึ้นไปแล้ว ตอนนี้มีมติออกมาจริงจะทำให้พ่อค้าบางส่วนชิงจังหวะปรับเพิ่มราคาสินค้าอะไรหรือไม่ก็อยู่ที่การดูแลของรัฐบาล และสุดท้ายการจะทำอะไรพวกนี้อย่าทำแบบที่ผ่านๆมาที่มีการขยับหลายรอบมีผลร้ายกับประชาชน ถ้าตัดสินใจแล้วอย่ายื้อ” เราเห็นว่า ก่อนที่ครม.จะพิจารณาในประเด็นนี้ย่อมจะนำความเห็นของทุกฝ่ายไปร่วมพิจารณาด้วย เพื่อความเหมะสมและรอบด้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเห็นว่า เมื่อประกาศว่าจะปรับขึ้นแล้วต้องเดินหน้า ไม่เงื้อง่าราคาแพง เพราะอาจส่งผลกระทบในมุมกลับ