ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
BCG Model จะสามารถผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 จากการพัฒนาอาหารและเกษตร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้าง GDP 3.4 ล้านล้านบาท (21%) จ้างงาน 16.5 ล้านคน ภายใน 5 ปี จะสามารถสร้างมูลค่าได้ 4.4 ล้านล้านบาท (24%) จ้างงานเป็น 20 ล้านคนได้หรือไม่
ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ประเทศไทยให้เป็นประเทศไทย 4.0 ด้วย BCG Model ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ทิ้งไว้ใครข้างหลัง สู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ประกอบไปด้วย
1.Bio-Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ คือ ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าโดยนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัยพยากรทั้งการผลิตสินค้า บริการ และการใช้ประโยชน์ตามหลักการทางชีววิทยา
โดยมีโครงการใช้เทคโนโลยีโรงเรือนและระบบการจัดการน้ำและปุ๋ยสามารถเพิ่มการผลิตและเพิ่มคุณภาพของเมล็ดพันธ์ให้สามารถส่งออกได้ 10,000 ล้านบาทภายในปี 2565 หรือเพิ่ม 50% ของมูลค่าส่งออกในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีโครงการยกระดับอุตสาหกรรมนมไทย นำการพัฒนาอาหารและจัดการฟาร์มการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยจะมีการนำเทคโนโลยีการห่อหุ้มและจัดเก็บมาใช้ในการแปรรูปน้ำนม ในปี 2563 จะผลิ ตนมอัดเม็ดเกรดพรีเมี่ยมนมผงสำหรับเด็กอยู่ในพื้นที่ห่างไกล สร้างมูลค่า 6,300 ล้านบาท และภายใน 4 ปีจะมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ราว 18,000 รายได้รับประโยชน์
หรือโครงการระบบการเลี้ยงปลาระบบน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ สามารถลดการใช้น้ำได้ 95% ทำให้ประหยัดพื้นที่ สามารถผลิตปลาจากบ่อดิน 900 กก./ไร่ เป็น 64,000 กก./ไร่
นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตเนื้อวัวจากราคา 250 บาท/กก. แต่เนื้อวัวโพนยางคำ กก.ละ 750 บาท/กก. เปลี่ยนพืชจากขายเป็นตันให้เป็น กก.หรือ กรัม เช่น ใช้ IOT ในการควบคุมการเพาะเลี้ยงและการปลูก ทำให้สารสกัดจากข้าวราคา 2,400 บาท/กก. และสารสกัดแคปไซซันจากพริก 30,000 บาท/กก.
2.Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อมิให้เกิดปัญหาการขาดแคลนและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อลดขยะหรือของเสียให้เหลือศูนย์ (Zero Waste)
ประเทศไทยนำเข้าพลังงาน 60% ในขณะที่เรามีศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทนจากผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานแสงอาทิจย์ โดยจะผลิตให้เพิ่มขึ้นจาก 15.5% ในปี 2561 เป็น 30% ของปริมาณการใช้พลังงานภายในปี 2579 หรือ ชานอ้อย กก.ละ 1 บาท เพื่อเอามาพัฒนาให้เป็นเครื่องสำอางและอาหารมูลค่าจะเพิ่มเป็น กก.ละ 260-1,000 บาท เพื่อเอามาพัฒนาเป็นการผลิตยาหรือใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือการนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปเพาะเลี้ยงสาหร่ายหรือผลิตไบโอเอทานอลได้อีก
3. Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว คือระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ใช้ทรีพยากรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า กระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงและลดก๊าซเรือนกระจก ยกระดับคุณภาพและความเป็นอยู่และลดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน สร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่รายได้ 80% กระจุกตัวอยู่เฉพาะเพียง 8 จังหวัด ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหาย คงต้องพัฒนาจังหวัดอื่นๆให้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและกระจายรายได้ให้เกิดขึ้นต่อไป
ซึ่ง BCG คงต้องใช้เทคโนโลยี IOT, Big Data และ AI จะต้องนำมาใช้ในกระบวนการตั้งแต่เริ่มกระบวนการตั้งแต่วัตถุดิบ อาหาร และเกษตรการแพทย์ การท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ
นับเป็นความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย แต่ประเทศไทยยังอยู่ห่างไกลจากความฝันนี้ ทำอย่างไรจะสร้างนักเทคโนโลยี นักวิจัย ให้สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เกิดความเป็นจริงได้เท่านั้น เอาใจช่วยครับ