ทวี สุรฤทธิกุล
รัฐธรรมนูญคืออุดมการณ์แห่งชาติที่ดำรงอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน
กรอบคิดหลักในการเขียนรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วย 5 เรื่องใหญ่ๆ ที่ผู้เขียนเรียกว่า“หลักปัญจศีลของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย” โดยได้กล่าวไปแล้ว 3 เรื่อง คือ หนึ่ง ต้องรู้ว่าคนไทยต้องการอะไร สอง ต้องมุ่งไปสู่การเมืองที่ดีงาม และสาม ต้องมองหาผู้นำในแบบที่คนไทยต้องการ ซึ่งในสัปดาห์นี้จะได้กล่าวถึงอีก 2 เรื่อง คือ สี่ ต้องเขียนให้เป็น “ศาสนาทางการเมืองการปกครอง” และห้า ต้องเขียนให้เป็นแบบอย่างของโลกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญของไทยคือ “ตัวอย่างที่ดีของการสร้างสังคมมนุษย์”
หลักการข้อที่สี่ที่ว่า ต้องเขียนให้เป็น “ศาสนาทางการเมืองการปกครอง” คือ “หัวใจที่สำคัญที่สุด” ของการเขียนรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการข้อนี้ถือได้ว่าเป็น “จุดกำเนิด” ของวิชารัฐศาสตร์นั่นเอง ย้อนหลังไปถึงยุคนครรัฐกรีกเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว นักปรัชญาชาวกรีกได้ถกเถียงกันถึง “มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร” จนได้คำตอบว่า “เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันและสร้างสังคมให้มีความสุขความเจริญ” พร้อมกับคำตอบอีกส่วนหนึ่งว่า “โดยมีผู้ปกครองที่ดีและระบบการเมืองที่ดี” จากนั้นก็ได้เผยแพร่แนวคิดในการปกครองต่างๆ เกิดเป็นสำนักความคิดหลายๆ สำนัก สืบเนื่องมาในประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองของยุโรป เกิดเป็น “แนวคิด” หรือ “ลัทธิ” ทางการเมืองการปกครองหลากหลายมากมาย ซึ่งทั้งหมดนั้นก็มุ่งที่จะวางกรอบแนวคิดว่า “เราควรจะปกครองดูแลกันอย่างไร” เพื่อให้ทุกคนในแต่ละสังคมได้ยึดเป็นแนวปฏิบัติ เฉกเช่นเดียวกันกับศาสนาทั้งหลาย
ในทำนองเดียวกันกับการเกิดขึ้นของศาสนา แนวคิดทางการเมืองและสังคมที่เรียกว่า “ลัทธิทางการเมืองการปกครอง” เหล่านี้ ก็ต้องการที่จะให้คนเชื่อถือ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมกันยึดถือปฏิบัติ และปลูกฝังให้เป็น “จิตวิญญาณ” ที่จะคงอยู่คู่กับตัวมนุษย์และสังคมมนุษย์ไปอย่างยาวนาน ดังนั้นเราจึงพบว่าลัทธิการเมืองและสังคมหลายๆ ลัทธิ ต่างก็มีเกิดมีดับ มีรุ่งเรืองมีสาปสูญ ก็เป็นด้วยว่าลัทธิเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในแต่ละสังคม และด้วยการที่ต่อมาในแต่ละประเทศต่างก็สร้างรัฐธรรมนูญของตนขึ้นมา ก็เป็นประหนึ่งการสร้างคัมภีร์ทางศาสนาให้ทุกคนยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน เราจึงอาจจะเรียกรัฐธรรมนูญนี้ได้ว่าคือ “ศาสนาทางการเมืองการปกครอง” นั่นเอง ซึ่งก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับศาสนาทุกศาสนาที่คงอยู่สืบเนื่องเรื่อยมาก็ด้วย “ศรัทธา” นั้นเป็นหลัก
การที่รัฐธรรมนูญในประเทศไทยไม่มั่นคงก็ด้วยสาเหตุสำคัญในข้อนี้นี่เอง คือคนไทยไม่ได้ศรัทธาเชื่อหรือเคารพนับถือในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะตัว “ศาสดา” คือผู้มีอำนาจทางการเมืองการปกครอง ไม่ได้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพนับถือรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นคนที่ทำให้รัฐธรรมนูญดูไร้ค่าไม่มีความสำคัญ ด้วยการฉีกทิ้งและเขียนใหม่ฉบับแล้วฉบับเล่า รวมทั้งที่เมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ผู้ที่ใช้รัฐธรรมนูญทั้งที่เป็นผู้มีอำนาจและผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในส่วนต่างๆ (เช่น รัฐสภา รัฐบาล องค์กรอิสระ ระบบราชการ รวมถึงประชาชนด้วย) ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หลายครั้งกลับมีการใช้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเครื่องมือในการทำลายระบบการเมือง พร้อมกับการทำลายความน่าเชื่อถือในรัฐธรรมนูญนั้นไปด้วย รัฐธรรมนูญของไทยจึงไม่ใช่ศาสนาทางการเมืองการปกครอง แต่เป็นเพียง “ไสยเวทย์” หรือ “ลัทธิ” เพื่อการเอาชนะและแสวงหาอำนาจทางการเมืองเท่านั้น
มาถึงกรอบคิดข้อสุดท้ายของ “หลักปัญจศีลของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย” ก็คือหลักการข้อที่ห้าที่ว่า ต้องเขียนให้เป็น “แบบอย่างของโลก” ว่าการเขียนรัฐธรรมนูญของไทยคือ “ตัวอย่างที่ดีของการสร้างสังคมมนุษย์” ซึ่งหลักการข้อนี้จะเป็นไปได้ก็ต้องเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการนำรัฐธรรมนูญไปใช้จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว เหมือนกันกับที่เราชอบที่จะอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญของบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมัน ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ที่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง ซึ่งผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักรัฐศาสตร์ก็มีความฝันว่า ประเทศไทยน่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี ที่มีความเหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทยในสักวันหนึ่ง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเป็นแบบอย่างดีอีกแบบหนึ่งของรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ในโลก เพื่อที่สังคมโลกจะได้ยกย่องประเทศไทยถึงความสำเร็จในการสร้างระบบการเมืองการปกครองที่ดี เป็นประเทศที่มีอารยธรรมสูงส่ง ไม่ใช่ป่าเถื่อนล้าหลังอย่างที่เคยเป็นมา นั่นก็คือสังคมไทยได้ก้าวไปสู่ “สังคมที่ดี” ที่จะได้ให้ประเทศอื่นๆ เอาเป็นแบบอย่าง หรือนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในแต่ละที่แต่ละสังคมนั้นต่อไป
ผู้เขียนไม่เห็นประโยชน์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางมาตรา เพียงแค่ต้องการจะลดกระแสแรงบีบคั้นจากความขัดแย้งในสังคม เพราะเห็นว่าไม่ได้ช่วยทำให้การเมืองไทยดีขึ้น โดยที่ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมไทยยังมีอยู่ และยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการประทะกันทางความคิดเห็นในเรื่อง “หยุมหยิม” ต่างๆ ดังที่เป็นอยู่ แต่ควรมีการ “ปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ” ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และต้องกระทำภายใต้ “กระบวนการของความสมานฉันท์” ด้วยการ “อภัยอดีต สร้างสรรค์อนาคต” พร้อมกับการแสวงหาจุดร่วมทางความคิดเห็น ภายใต้กรอบแนวคิดทั้ง 5 เรื่องของ “หลักปัญจศีลของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย” ที่ได้นำเสนอมานี้
ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศด้วยน้ำมือของผู้มีอำนาจคณะนี้ในยุคนี้แต่อย่างใดไม่ แต่ด้วยในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง และได้ศึกษาเรียนรู้ทางด้านการเมืองการปกครองมาพอสมควร ก็อยากจะนำเสนอแนวคิดที่ได้ศึกษามานั้นมาแสดงให้ปรากฏไว้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือในฐานะที่เป็น “มนุษย์” ก็อยากจะเห็นคนไทยที่ก็ล้วนแต่เป็นมนุษย์ร่วมชาติและร่วมโลก ได้ดำรงอยู่ในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์กับเขาด้วยในชาตินี้
ในทางการเมือง รัฐธรรมนูญคือสิ่งที่สร้างและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์