ควันหลงจากโต๊ะดินเนอร์งานเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ หลังมีการเปิดเผยภาพเมนูหูฉลาม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มอนุรักษ์ เนื่องจากองค์กรอนุรักษ์ระดับโลกต่างรณรงค์ยุติการบริโภคหูฉลาม
สะท้อนถึงความประมาท ไม่ระมัดระวังของรัฐบาล ทั้งที่รู้ดีว่าอยู่ในแสงสปอตไลต์ทางการเมือง ถูกจับจ้องตรวจสอบ อยู่แล้ว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่มีความอ่อนไหว เพิ่งจะเกิดกระแสร้อนแรง หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่เลื่อนยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางเกษตร คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือน และจำกัดการใช้ ไกลโฟเซต ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
กระนั้น ท่าทีของรัฐบาลเอง ดูเหมือนว่าจะพยายามไม่ตอบโต้ในเรื่องดังกล่าว และปล่อยให้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไป แต่ในสถานการณ์ต่อสู้ทางการเมืองที่ดูเดือดเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ ก็อาจยากที่เรื่องบางเรื่องซึ่งเปิดให้เห็นถึงช่องโหว่ หรือแผลเล็กแผลน้อย จะไม่ถูกชำแรกออกมา
ในกรณีนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กว่า จึงขอตัดตอนเนื้อหามานำเสนอเพื่อส่งผ่านไปยังรัฐบาลดังนี้
ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า “โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าหลายท่านบนโต๊ะ ไม่กินซุปหูฉลาม ไม่ต้องการให้มีการเสิร์ฟเมนูหูฉลาม บางท่านอาจอึ้งเมื่อพบว่ามีเมนูนี้ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเกิดได้ เพราะบางครั้งผมก็ไปร่วมงานโดยไม่ทราบ รู้อีกทีมีหูฉลามมาเสิร์ฟแล้วแน่นอนว่าผมไม่กิน และเมื่อผมไม่กิน จะมีผู้ร่วมโต๊ะมองดู บางคนแซวว่าไม่กินเหรอ ผมก็ถือโอกาสอธิบายเรื่องความโหดร้ายของหูฉลาม จนบางคนพลอยกินไม่ลงไปด้วยแต่นั่นเป็นผม ผู้คงไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์อะไรได้ แต่สำหรับผู้บริหารระดับรัฐบาล คงสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงใคร่ขอเสนอแนะไว้ดังนี้
หนึ่ง เงียบไปเลย เดี๋ยวข่าวก็ผ่านไป แต่แน่นอนว่าประเด็นหูฉลามไม่ใช่เรื่องที่ผ่านมาผ่านไป มันเป็นกระแสโลกมานาน และนับวันมีแต่จะมากขึ้น และหากไม่ทำอะไรเลย อีกไม่นานมันก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ซ้ำไปซ้ำมา เพราะสำหรับเมืองไทยแล้ว หูฉลามกับนักการเมืองแทบเป็นของคู่กันเกิดทีไร ภาพลักษณ์ของฝ่ายที่กินหูฉลาม ก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
สอง พลิกวิกฤต ในอดีตเคยมีข่าวคณะของท่านนายกฯ เสิร์ฟอาหารในกล่องโฟมและพลาสติกใช้แล้วทิ้ง แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง สั่งห้ามและยกเลิกการใช้นั่นเป็นทางออกที่ดี เช่น ท่านนายกฯ ประกาศให้ชัดว่า ไม่ประสงค์จะไปร่วมงานใดๆ ที่เสิร์ฟหูฉลาม เพราะท่านไม่กินหูฉลาม และไม่อยากส่งเสริมให้เกิดการฆ่าสัตว์ชนิดนี้ หากไปให้ไกลยิ่งขึ้น อาจขอให้ท่านรมต.กระทรวงทรัพยากรฯ เร่งหาทางอนุรักษ์ฉลาม ทำโรดแมปให้ชัดเจนเหมือนขยะทะเลทำเช่นนี้จะเกิดประโยชน์มาก เพราะมีฉลามหลายชนิดที่จ่อคิวรอขอเป็นสัตว์คุ้มครอง เช่น ฉลามหัวค้อนรวมทั้งเร่งออกระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม (พรบ.สิ่งแวดล้อม กำหนดสัตว์ที่ห้ามจับได้)
สาม เน้นย้ำกับฝ่ายปฏิบัติทั้งหมด โดยเฉพาะฝ่ายด้านภาพลักษณ์ ว่าโลกยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากและเมื่อเกิดเหตุแล้วโอกาสแก้ตัวมีน้อย เพราะมันไม่ใช่เรื่องแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจที่ขัดแย้ง แต่เป็นสิ่งที่ใครๆ สมควรทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น หูฉลาม ปลานกแก้ว ขยะพลาสติก ฯลฯ เป็นประเด็นเสี่ยงสูงมาก ที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบทุกครั้งทุกกิจกรรม โดยไม่ต้องย้ำเตือน เพราะภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศในยุคนี้ ยิ่งกรีนเท่าไหร่ย่อมยิ่งได้ความนิยม เช่น นายกฯนิวซีแลนด์ที่ได้คะแนนความชอบของคนไทยไปเพียบครับ”
กระนั้น กรณีดังกล่าวถือเป็นอีกบทเรียน สำหรับรัฐบาลที่ต้องมีการทบทวนและต่อไปนี้ต้องตั้งการ์ดให้สูงกว่าเดิม อย่าให้เพี่ยงพล้ำอีก