ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2563ว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากงบประมาณปี 2563 จะออกมา ช่วยให้ภาครัฐมีการใช้จ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
ขณะที่ด้านการลงทุนพบว่า ขณะนี้นักลงทุนจากหลาย ๆ ประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หลังจากที่ยื่นโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)และได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ก็จะเริ่มเข้ามาลงทุน และหลายโรงงานจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ ส่วนการค้าขายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และประเทศเวียดนาม แนวโน้มการค้ากับไทยยังไปได้ โดยเฉพาะเวียดนามการค้าดีมาก ด้านอุปโภคบริโภคประเทศเพื่อนบ้านยังต้องการสินค้าจากไทยอยู่
สำหรับการท่องเที่ยวคาดว่า ปีนี้ ยอดนักท่องเที่ยวน่าจะมียอดรวมประมาณ 40 ล้านคน โดยที่นักท่องเที่ยวจีนยังเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องและยังมีจำนวนมากปีนี้ประเมินว่ามียอดไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน และคงมียอดเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 11 ล้านคน
ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ กกร.แนะรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ปีหน้าปรับตัวดีขึ้น และรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้จึงเสนอให้นำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนี้
1.มาตรการช้อปช่วยชาติ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค (ยกเว้นสินค้าบางประเภท อาทิ สุรา ยาสูบ เป็นต้น) รวมทั้งของขวัญปีใหม่ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
2.มาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และของนิติบุคคลไม่เกิน 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง
3.เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน อันจะส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชลประทานในทุกจังหวัด โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ใช้ผู้รับเหมาจากในพื้นที่เท่านั้น (Local to Local)
4.ผลักดันและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานของ บสย. ในปี 2563 เช่น โครงการ PGS8 (โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs) และการนำ Credit Scoring มาใช้เพื่อให้สามารถคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามลำดับความเสี่ยงของ SMEs ให้มีการดำเนินการที่เร็วขึ้น
5.เร่งรัดการคืนภาษี VAT ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการให้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมโยงกับบริการ e-Payment
6.ผลักดันโครงการค้ำประกันการส่งออกให้ครอบคลุมตลาดใหม่ๆของ SMEs และรัฐบาลช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันการส่งออกให้กับ SMEs ในตลาดเป้าหมาย และส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกที่เป็น SMEs ขายสินค้าเป็นเงินบาท และให้สิทธิพิเศษในการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับการรับชำระค่าสินค้าโดยไม่คิดค่า Premium หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง EXIM Bank
ในกรณีของค่าเงินบาท ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อยู่ที่ 1.25% เพื่อจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว และได้ปรับเกณฑ์ 4 มาตรการเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท โดย กกร. เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาอาจช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น จึงขอให้ ธปท.พิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และหากยังปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลกระทบในระยะยาว
ที่สำคัญ สิ่งที่กกร.เป็นกังวล ก็คือเรื่องสถานการณ์การเมือง โดยภาคเอกชนอยากให้การเมืองมีเสถียรภาพ เพราะจะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนได้
เราคาดหวังว่า มาตรการต่างๆจากแนวคิดของภาคเอกชน รัฐบาลจะนำไปพิจารณาเลือกดำเนินการแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะอักเสบนี้ มีอาการดีขึ้นในห้วงปลายปีต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ในขณะเดียวกันก็ต้องบริหารจัดการให้การเมืองมีเสถียรภาพ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา และไม่เป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ