สมบัติ ภู่กาญจน์ อาจารย์คึกฤทธิ์ พยายามให้ความรู้แก่คนไทย - ถึงเรื่องราวความเป็นมาในอดีต ให้คนได้รู้จัก ‘ที่มาที่ไปของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง’เสียก่อน ที่จะตัดสินใจทำ/หรือไม่ทำ สิ่งนั้นในปัจจุบัน – ต่อไปว่า “อย่างไรก็ตาม หลักการปกครองสงฆ์ ตั้งแต่รัชกาลที่๑ลงมาก็คือ ให้ฆราวาสปกครองพระ มีอำนาจเหนือพระในทุกทาง นับตั้งแต่ ‘สึกพระ’ ลงไป การใช้อำนาจในยุคนั้น เรียกได้ว่ารุนแรง ดังเช่นมีบัตรสนเท่ห์ทิ้งกันในรัชกาลที่๑ ที่มีข้อความปรากฏว่า “ไกรสรพระเสด็จได้ สึกชี กรมหมื่นเจษฎาบดี เร่งไม้” ความนี้แปลว่า มีการเอาภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์มาซักถาม แล้วเฆี่ยนหลังตามจารีตนครบาลเมื่อให้การรับเป็นสัตย์ จากนั้นก็ลงมือสึกกันทีเดียว ไม่กระอำกระอากกันอย่างเช่นทุกวันนี้” หลังอ่านต้นฉบับ ผมจำคำ‘กระอำกระอาก’ ซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อนนี้ไปถามอาจารย์คึกฤทธิ์ ว่าสำนวนนี้มีความหมายว่าอย่างไร? ได้รับคำตอบว่า “เพราะคนรุ่นใหม่อย่างพวกคุณ ไม่ค่อยจะรู้จักชีวิตหรือเรื่องราวสมัยปู่ย่าตายายมาก่อน อย่างนี้น่ะซี! ผมจึงต้องเขียนเรื่องนี้ให้ยาวสักหน่อยแล้ว คนไทยจะได้รู้จักรากเหง้าของตัวเองให้มากขึ้น รู้แล้วเผื่อจะคิดทำอะไรให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้นด้วย ไม่ทำกระอำกระอากกันอยู่อย่างนี้ เข้าใจหรือยัง?” อย่างไรก็ตาม อาจารย์คึกฤทธิ์แนะว่า ให้พยายามติดตามเรื่องราวต่อไปดีกว่า ที่ท่านเขียนต่อไป ว่า “ฆราวาสผู้มีอำนาจเหนือพระ และปกครองพระ ก็คือ กรมธรรมการ ที่มีข้าราชการอยู่ในสังกัดเรียกว่า ‘สังฆการี’ กรมสังฆการีนี้มีหน้าที่ที่เกี่ยวกับพระทุกอย่าง นับตั้งแต่ ‘เผดียงพระ’ให้ไปในงานพระราชพิธี หรือในงานพระราชกุศลต่างๆ จากนั้นก็ดูแลปฏิบัติพระ ที่เข้าไปในงานพระราชพิธีนั้นให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องเรียบร้อย องค์ไหนเก้งก้าง เคอะเขิน ทำอะไรไม่ถูก สังฆการีลุยแหลก บางครั้ง เล่นเอาแรงๆ ถึงขั้นดุว่าหรือหยิกเอาแรงๆก็มี นอกจากนั้น สังฆการียังทำหน้าที่เป็นตำรวจพระ คือสอดส่องดูแลความประพฤติปฏิบัติของพระโดยทั่วไป องค์ไหนประพฤติผิดออกนอกลู่นอกทาง เช่น นอนกับผู้หญิงแล้วหาว่าผู้หญิงปล้ำ หรือถูกพบว่าพกปืนไว้ในย่าม หลังมีเรื่องกับเจ้าอาวาส ตลอดจนมีอวัยวะของเทียมจากสแกนดิเนเวียใส่ไว้ในย่ามเพื่ออวดคน ( ขออนุญาตแทรกหมายเหตุว่า ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นหัวข้อข่าวที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นทั้งสิ้น) ก็จะถูกสังฆการีจับเอาไปตั้งอธิกรณ์ คือเอาตัวไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป ส่วนคนที่ตั้งคดีฟ้องเหมือนเป็นอัยการพระ ก็เป็นสังฆการีอีกนั่นแหละ และคนที่เป็นตระลาการตัดสินคดีที่พระเป็นจำเลย ก็เป็นสังฆการี เป็นฆราวาสอีกเหมือนกัน ราชทินนามของข้าราชการกรมสังฆการีในสมัยนั้น บ่งชัดถึงอำนาจเหนือพระเหล่านี้ เช่น หลวงอธิกรณวิจัย, หลวงวินัยวิจารณ์ หรือแม้แต่ราชทินนามของพระยาอธิกรณประกาศอดีตอธิบดีกรมตำรวจสมัยหนึ่งนั้น ดั้งเดิมก็เป็นของกรมสังฆการี ในความเห็นของผม ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พระสงฆ์อาจปกครองกันเอง โดยมีสังฆการีเป็นอำนาจทางอาณาจักร กล่าวคือพระภิกษุใดต้องอธิกรณ์ ถ้าสงฆ์ชำระแล้วมีมติให้ขาดจากเพศสมณะ ก็จะเป็นหน้าที่ของสังฆการีที่จะต้องจับพระรูปนั้นสึก ไม่ปล่อยให้ดื้อดึงเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ( หมายเหตุอีกครั้งว่า – ปัจจุบันในข้อเขียนนี้คือสี่สิบปีมาแล้วนะครับ แต่มาอ่านกันในวันนี้ ความคล้ายคลึงกันในเรื่องราวเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ ความไม่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ จะเป็นเพราะสาเหตุใด? นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากนำเรื่องเก่านี้มาเล่าใหม่ เพื่อนำไปสู่ความคิดที่ ‘เรา’จะช่วยกันมองสิ่งใดให้กว้างก่อนที่จะใช้ปัญญาในการพิจารณา) “สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต คือในสมัยนั้นภิกษุผู้ต้อง ‘ครุกาบัติ’(คืออาบัติที่รุนแรง)ถึงขั้นปราชิก เมื่อถูกสึกออกมาแล้ว ก็ยังจะมีโทษทางอาญาแผ่นดินตามมาอีกที และภิกษุผู้รู้เห็นหรือเป็นโจทก์จนทำให้เกิดมีการฟ้องร้องและพบความจริงขึ้น ก็จะได้รับความคุ้มครองด้วย นี่คือหลักที่น่าสนใจ ผมเข้าใจว่าในสมัยอยุธยา เมื่อแรกนั้น อำนาจในการปกครองสงฆ์ก็คงจะยังอยู่กับพระเถระ และข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดินคือสังฆการีก็คงทำหน้าที่เพียงมือเท้าของพระเถระ ที่จะคอยบังคับการให้เป็นไปตามมติของพระเถระเท่านั้นเป็นสำคัญ แต่ครั้นอยู่มานานๆเข้า อำนาจก็คงค่อยๆเลื่อนไปอยู่กับฆราวาสมากยิ่งขึ้นทุกที จะเป็นเพราะพระเถระในสมัยนั้นงึมงัมไม่เอาไหน หรืออยู่เหนือโลกเกินไปเสียจนไม่รู้ความผิดความถูกของโลก หรือมัวแต่เจิมป้ายปลุกเสกเครื่องรางของขลังกันเสียหมด อย่างไรก็สุดที่จะเดาเหมือนกัน จนถึงบ้านเมืองแตก ความระส่ำระสายวุ่นวายก็เกิดขึ้น จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จะไว้ใจใครได้หรือไม่ได้แค่ไหน ในช่วงสั้นๆของยุคกรุงธนบุรี ผ่านมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ อำนาจในการปกครองพระจึงต้องเป็นของฆราวาสโดยสิ้นเชิง อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ที่พระมหากษัตริย์ในอดีตของไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๑มาจนถึงรัชกาลที่๗ จึงไม่ทรงไหว้พระเพียงเพราะบุคคลผู้นั้นโกนหัวนุ่งห่มเหลือง แต่จะทรงกราบไหว้เฉพาะพระภิกษุบางองค์ที่ทรงมั่นพระราชหฤทัยในความบริสุทธิ์ในศีลและการปฏิบัติของภิกษุนั้น หรือทรงเชื่อว่าพระภิกษุนั้นจะอยู่ในสมณเพศตลอดไป และที่สำคัญอีกอย่าง คนโบราณถือกันว่า พระภิกษุซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงกราบไหว้แล้ว จะยึดเป็นปฏิญญาของตนเองว่าจะบวชไม่สึกไปจนตาย เพราะถือกันว่า ถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสแล้ว การที่พระเจ้าแผ่นดินเคยทรงกราบไหว้มาจะกลายเป็นจัญไรแก่ตนในเพศฆราวาส ไม่มีทางเจริญได้ในชีวิต ผมเห็นว่าราชประเพณีนี้ มีส่วนดีอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พระไม่กำเริบ! บทความชิ้นที่สองของอาจารย์คึกฤทธิ์ จบลงแค่นี้ ทั้งเรื่องราว และความคิดความเห็นเหล่านี้ น่าสนใจไหมครับ? ถ้าท่านผู้อ่านเห็นด้วย ก็ขอเชิญให้ติดตามกันต่อไป ยังมีสิ่งที่พุทธศาสนิกชนยุคนี้ ควรเรียนรู้(ถ้าไม่รู้)อีกเยอะ ที่ผู้รู้สามารถนำไปใช้ได้ ในการตัดสินใจทำ(บางอย่าง)ในวันนี้ ให้มีผลคือประโยชน์ในอนาคต