“ปัญหาสภาล่ม” ถือเป็นเหตุการณ์ที่ต้อนรับการกลับมาของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายหลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 ที่ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเย็นวันที่ 28 พ.ย.62ที่ผ่านมา
เพราะในเวลาต่อมาปรากฎว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสำคัญ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.62 รัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้โหวตการพิจารณาญัตติการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) การออกคำสั่งของและการใช้มาตรา 44 ของคสช. ไปด้วยคะแนน 236 ต่อ 231 เสียง งดออกเสียง 2 คน และต่อมาประธานในที่ประชุมต้องสั่งให้ปิดการประชุม ในเวลา 19.17 น.เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ !
แต่ปัญหาที่ตามมา สืบเนื่องจากสภาล่ม ในนัดแรกยังเกิดซ้ำอีกรอบในการประชุมสภาฯ เมื่อเช้าของวันที่ 28 พ.ย. เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เช่นเดิม
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบนี้ กลับไม่ใช่เรื่องขององค์ประชุมไม่ครบเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นปฏิบัติการ “ลองของ” พรรคพลังประชารัฐ โดย “พรรคประชาธิปัตย์” อย่างชัดเจน เพราะจากข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมากลับน่าสนใจว่า ผลโหวต 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 ปรากฏว่า มี ส.ส. 33 คน ไม่ได้มาร่วมโหวต ได้แก่ พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน คือ พลังประชารัฐ 8 คน ประชาธิปัตย์ 6 คน ภูมิใจไทย 3 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน ขณะที่เป็นฝ่ายค้าน 15 คน ได้แก่ เพื่อไทย 10 คน อนาคตใหม่ 2 คน เศรษฐกิจใหม่ 1 คน เสรีรวมไทย 1 คน ประชาชาติ 1 คน
โดยเฉพาะในส่วนของ “6 ส.ส.ประชาธิปัตย์” ยังไปโหวตสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ได้แก่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ,เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ,ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก ,กันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา ,อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
การโหวตสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมานั้นแน่นอนว่าย่อมต้องเป็นเรื่องที่ “สวนทาง” กับแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ อย่างสิ้นเชิง แต่ดูเหมือนว่า “6 ส.ส.”ของประชาธิปัตย์นอกจากจะยืนยันว่า ไม่ใช่ “งูเห่าสีฟ้า”แล้วการโหวตในลักษณะดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาอะไร
สิ่งที่กำลังสะท้อนออกมาเวลานี้คือ ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพ ของประชาธิปัตย์ ซึ่ง “วิปรัฐบาล”เองได้ประสานไปยัง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ในฐานะหัวหน้าพรรค ให้ดูแลลูกพรรคนั้น อาจจะกลายเป็น “โจทย์ข้อยาก” เพราะ ส.ส.ทั้ง 6 คนนั้นยึดโยงกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค ที่จุรินทร์ เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ ว่าพรรคจะไม่ส่งอภิสิทธิ์ ลงไปนั่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จนทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อศึกระหว่าง ขั้วอำนาจของจุรินทร์ งัดง้างกับ ขั้วของอภิสิทธิ์ การตอบโต้ด้วยเสียง “6 ส.ส.” คือเกมการต่อสู้ภายในประชาธิปัตย์ที่ลุกลามบานปลาย กลายเป็นเรื่อง “เขย่ารัฐบาล” อย่างที่เห็น !
ปัญหาสภาล่ม ครั้งนี้ แท้จริงแล้ว อาจจะไม่ใช่แค่เรื่อง “องค์ประชุมไม่ครบ” เพราะมีรัฐมนตรีบางส่วนเพิ่งเดินทางกลับจากเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมกับพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่อาจเป็น “ความจงใจ” ไม่เช่นนั้นแล้ว บิ๊กตู่ คงไม่ออกโรง “ทวงสัญญาลูกผู้ชาย” ผ่านสื่อ อย่างดุเดือด
“ผมเป็นทหารเก่า เพราะฉะนั้นสัญญาลูกผู้ชาย และความเป็นสุภาพบุรุษสำคัญที่สุด การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจริงๆ รัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างเดียว หรือจะมองอนาคตเฉพาะการเลือกตั้ง ซึ่งก็ยังมาไม่ถึงตอนนี้ ถึงเวลาค่อยว่ากันอีกที
แต่ตอนนี้บ้านเมืองกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความมั่นคง ปัญหาความขัดแย้งของสงครามการค้า แล้วเราจะไม่ให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้เลยหรือ โจมตีกันไปมาไม่เกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้น แม้กระทั่งกับพรรคการเมืองของตัวเองก็ไม่เกิด และเชื่อว่าประชาชนตัดสินใจได้เองในการเลือกตั้งครั้งหน้า” (28 พ.ย.62)
ถ้าถอดรหัสจากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วจะพบว่า การเลือกตั้งรอบหน้ายังมาไม่ถึง รัฐบาล โดยเฉพาะตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองยังอยู่อีกยาว ฉะนั้นไม่ว่าจะคิดลองของ กันอย่างไร สุดท้ายก็อาจจะต้องกอดคอกันจมน้ำไปด้วยกัน ก็เท่านั้นเอง !