อาจไม่เกินความคาดหมายนัก เมื่อที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ ก็กลับลำไม่เสนอชื่อของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยเสนอชื่อของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายเทพไท เสนพงศ์ แทน
ทั้งนี้นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธานส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้เหตุผลว่าแม้นายอภิสิทธิ์จะเป็นคนที่มีความเหมาะสม มีความรู้ความสามารถ แต่การตั้งประธานกมธ.เป็นการเลือกกันเองใน กมธ. มองว่าในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีสัดส่วนน้อยกว่า และไม่มีหลักประกันว่าเมื่อเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์แล้ว จะได้เป็นประธาน กมธ.หรือไม่ เพราะจะต้องอาศัยเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เมื่อไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ก็ไม่ควรที่จะเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ไปเป็นกมธ.
สอดคล้องกับท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่โอนอ่อนให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ ในทางกลับกัน มีการผลักดันนายไพบูลย์ นิติตะวัน เข้าไปชิงแคนดิเดตประธานกมธ.ด้วย แต่กระนั้นนี่ไม่น่าจะใช่เหตุผลหลักที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเช่นนี้
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ควิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ ต่อกรณีนี้ว่า ประชาธิปปัตย์ยุคนี้ก็แค่นี้ มารยาทและการอยากร่วมรัฐบาลอยู่เหนือมติพรรค และอยู่เหนือสัญญาประชาคม
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้วิจารณ์ประเด็นนี้ออกมาเป็นข้อๆ
1. กมธ.วิสามัญ พลาดโอกาสที่จะดึงคนที่เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบในทางปฏิบัติไปอีกคนหนึ่ง และคนๆนี้มีเวลาเพียงพอที่จะทุ่มเทการทำงานในเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีเก้าอี้ ส.ส. หรือ เก้าอี้ กมธ.ชุดอื่นๆนั่งทับซ้อน
2. การแค่กล่าวอ้างว่า ถึงเสนอคุณอภิสิทธิ์ ก็คงไม่ได้มีโอกาสเป็นประธาน กมธ. เลยไม่เสนอชื่อเป็น กมธ. ก็ดูเป็นเหตุผลที่แปลก ราวกับว่า ถ้าเข้ามาต้องเป็นประธานเท่านั้น เมื่อไม่ได้เป็นประธาน ก็ไม่ต้องเข้า ผมไม่คิดว่าคุณอภิสิทธิ์จะคิดเช่นนั้น เชื่อว่าคุณอภิสิทธิ์พร้อมจะทำงานในทุกหน้าที่เพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น
3. การกล่าวอ้างว่า เกรงว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนถึงอำนาจในการต่อรองและความสามารถในการเจรจาของ ปชป.น้อยมากหรืออย่างไร ปชป.ควรใช้โอกาสจากการเป็นพรรคที่มีจุดยืนที่ชัดเจนและเคยประกาศต่อประชาชน รวมถึงเป็นพรรคหลักที่ต่อรองจนประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ของรัฐบาล เจรจาขอให้พรรคร่วมรัฐบาลให้การสนับสนุน หรือหากแสดงจุดยืนที่มั่นคงชัดเจน การได้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน (แบบไม่ใช่งูเห่า) ก็น่าจะเกิดขึ้นได้
4. กรณีแบบนี้ ถ้าเป็น ภูมิใจไทย คงพูดไปแล้วว่า ไม่ได้เป็นประธาน กมธ. ก็จะทบทวนการอยู่ร่วมรัฐบาล เนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญของพรรค อยู่เป็น ต้องต่อรองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้เป็นด้วย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นความเห็นของคนนอกศูนย์อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ที่วงในนั้นแต่ละคนล้วนมากไปด้วยประสบการณ์การเมืองระดับอ๋อง จะมองเกมเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ไม่ออกเลยหรือว่าจะลงเอยอย่างไร ในทางกลับกัน ย่อมอ่านขาดมาตั้งแต่แรก ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่นายอภิสิทธิ์จะยังไม่ได้กลับเข้าสู่สภาฯในโมงยามนี้ ที่จะแก้ปัญหาทั้งศึกนอกและศึกใน