รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เศรษฐกิจแย่..!! เสียงบ่นที่ติดปาก “คนไทย” ณ วันนี้ เศรษฐกิจไม่ดี พ่อค้าแม่ค้าเริ่มโอดครวญว่าของขายยากขึ้น… เศรษฐกิจไม่ดี คนระมัดระวังตัว จับจ่ายกันน้อยลง…มันเป็นความรู้สึกที่คิดไปเองหรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกันแน่ ? ณ วันนี้ ประเทศไทย กำลังประสบปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเลี้ยงดูครอบครัวและดำรงชีวิตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน...จริงหรือ? การสำรวจความคิดเห็นของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนที่มีต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จำนวนทั้งสิ้น 1,174 คน ในประเด็น “การกินอยู่ ของประชาชน ณ วันนี้” น่าจะสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคมไม่ได้มากก็น้อย โดยสามารถสรุปผลได้ ดังนี้ จากภาวะเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ประชาชนมีวิธีการประหยัดที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 69.38 คือ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง งานเลี้ยงสังสรรค์ ของฟุ่มเฟือย รองลงมา ได้แก่ ไม่ออกนอกบ้าน อยู่บ้านมากขึ้น ทำอาหารทานเองที่บ้าน ร้อยละ 40.74 วางแผนการเงิน แบ่งเงินเป็นส่วน ๆ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ร้อยละ 22.85 ซื้อสินค้าเฉพาะในช่วงที่ลดราคา จัดโปรโมชั่น ร้อยละ 21.23 และทำงานพิเศษ หารายได้เสริม เก็บออมเงิน ร้อยละ 19.60 ประชาชนมีวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่า ปัจจัย 4 อย่างไร? อาหาร พบว่า “วิธีประหยัดค่าใช้จ่าย” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 62.83 คือ ทำอาหาร ทานเอง ลดทานข้าวนอกบ้าน รองลงมา ได้แก่ กำหนดค่าใช้จ่ายในแต่ละมื้อ ไม่เกินกี่บาท ร้อยละ 37.59 และไม่กินทิ้งกินขว้าง กินพอดี เหลือเก็บใส่กล่อง ร้อยละ 23.46 ที่อยู่อาศัย พบว่า “วิธีประหยัดค่าใช้จ่าย” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 65.63 คือ ประหยัดน้ำ ไฟ /ปิดไฟ ถอดปลั๊ก เมื่อไม่ใช้งาน รองลงมา ได้แก่ หมั่นดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ซ่อมเอง ร้อยละ 39.35 และเลือกเช่าราคาไม่แพง หารกับเพื่อน อยู่กับญาติ ร้อยละ 15.77 เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม พบว่า “วิธีประหยัดค่าใช้จ่าย” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 54.58 คือ ช้อปปิ้งน้อยลง รอซื้อช่วงโปรโมชั่น ลดราคา รองลงมา ได้แก่ ใส่ชุดเดิม แลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากับเพื่อน พี่น้อง ร้อยละ 40.16 และซื้อของมือสอง ไม่ซื้อแบรนด์เนม ร้อยละ 16.71 ยารักษาโรค พบว่า “วิธีประหยัดค่าใช้จ่าย” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 60.12 คือ ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี รองลงมา ได้แก่ ใช้สิทธิ สวัสดิการรักษาพยาบาล ประกันสังคม ร้อยละ32.36 และกินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ร้อยละ28.07 สิ่งที่ประชาชนไม่สามารถประหยัดได้ มีอะไรบ้าง? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 63.52 คือ ค่าเดินทาง ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ค่าน้ำมัน รองลงมา ได้แก่ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 50.80 ค่าเช่า ค่าผ่อนชำระต่างๆ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต ร้อยละ 24.79 ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ร้อยละ 20.64 และค่าภาษีสังคม เช่น งานบุญ งานแต่งงาน งานศพ ร้อยละ 18.66 ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ คือ ภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะการกินอยู่ของประชาชนที่สร้างความหนักอกหนักใจในแก่คนในสังคมจำนวนไม่น้อย ซึ่งการแก้ไขปัยหาเศรษฐกิจนั้น คงเป็นหวังพึ่งรัฐบาลในการแก้ไขเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ “คนไทย” ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง รู้จักประมาณตนในการใช้จ่าย ประหยัดอดออมนำของเก่ามาทำเป็นของใหม่ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำวัน สร้างนิสัยรักการเก็บออม…หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยึดหลักพอเพียง มีสติ และวางแผนในการ ใช้จ่าย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยึด “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” พระราชปรัชญาซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย หากทำตาม “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ได้ ต่อให้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากมายเพียงใด? “ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย” จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน..!! คงต้องยอมรับว่า “เศรษฐกิจ” ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อย่างมาก (ไม่เพียงแต่รัฐบาลนี้ แต่รัฐบาลไหนไหน ก็มักจะ “ตกม้าตาย” จากปัญหาเศรษฐกิจทั้งสิ้น) โดยที่ผ่านมาไม่ใช่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่เพราะมีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นจำนวนมาก จนทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ไม่ทันใจ “ประชาชน” เท่าทีควร สุดท้ายคงต้องขอให้ประชาชน อดทน และเข้าใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บ้าง เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่ไม่พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่แก้จน “มือเป็นระวิง” แล้วเหมือนกัน…