ตลอดหลายวันมานี้ดูเหมือนว่า “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” ต้องตอบคำถามวนไป เวียนมาอยู่บ่อยครั้งนั่นคือ “เอกภาพ” ของ “พรรคร่วมรัฐบาล” นั้นยังเข้มแข็ง อยู่ดีหรือไม่ ? เพราะจะว่าไปแล้ว “ศึกนอก” จาก “7พรรคฝ่ายค้าน” ที่จ้องถล่มด้วยญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นั้นก็ยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะสั่นคลอน “เรือเหล็ก” ของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หนักหน่วงมากเท่ากับที่เวลานี้ เกิดปัญหาขึ้นภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดยเฉพาะปัญหาการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังกลายเป็น “ชนวน” ที่ปลุกความขัดแย้งระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ในฐานะพรรคการเมืองที่ชูประเด็นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ2560 มาตั้งแต่แรกเริ่ม และแน่นอนว่า พรรคประชาธิปัตย์ คาดหวังที่จะใช้วาระดังกล่าวนี้ ดึง “ความเชื่อมั่น” ให้กลับคืนมา ด้วยการส่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค เข้ามาชิง “ประธาน” คณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันอย่าลืมว่า แม้ประเด็นที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นทั้ง บิ๊กตู่และบิ๊กป้อม ผู้กุมหางเสือเรือลำนี้ จะบอกว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติไปก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายคนรู้ดีว่า ทุกอย่างต้องผ่านสายตาและ “ความเห็นชอบ” จากทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็น “รายชื่อ” ของ กรรมาธิการฯ ฝ่ายรัฐบาล ไปจนถึง ตัวประธาน ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่มีชื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คนใหม่ ของพรรคพลังประชารัฐ โผล่ขึ้นมาชิงกับอภิสิทธิ์ เพราะต่างรับรู้กันดี ว่าไพบูลย์ นั้นต้องรับบัญชาจาก บิ๊กป้อม ลำพังบรรยากาศที่คุกรุ่นจากการงัดข้อกันเองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งเริ่มนับหนึ่งแก้รัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็น ซีรี่ย์เรื่องยาว เพราะไม่เพียงแต่จะหาข้อสรุปได้ยากแล้วในยกแรก ยังกลายเป็นวาระที่ใช้เวลายืดเยื้อ จนฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกต ว่านี่คือปาหี่ของรัฐบาลหรือไม่ ? ล่าสุดในยามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยู่เมืองไทย เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เข้าร่วมประชุมนัดสำคัญที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี ก็ยังเป็น พล.อ.ประวิตร ต้องรับหน้าเสื่อออกมายืนยันว่า ไม่มีปัญหาใดๆระหว่าง “ทีมเศรษฐกิจ” มีแต่สื่อที่คิดกันเองไปเอง ! วาระที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่จับตา ว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางกลับมาถึงไทย ตามกำหนดการในที่ 28 พ.ย.นี้ จะส่งสัญญาณนัดหมายให้มีการมีตติ้งกัน ระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อใด เพราะการนัดรับประทานอาหารร่วมกันของพรรคร่วมในห้วงจังหวะที่บรรยากาศในครม.ดูอึมครึม และตอบโต้กันไปมา นั้นหากได้รับการ “กระชับไมตรี” เคลียร์ใจ ทำความเข้าใจกันเอง ก่อนที่พรรคร่วมรัฐบาล จะไปเผชิญหน้ากับ “ศึกซักฟอก” ของ 7พรรคฝ่ายค้าน ยังเป็นการ “เช็คเสียง” ก่อนวันลงมติโหวตไว้วางใจ ไม่เช่นนั้นแล้ว “ผู้จัดการรัฐบาล” อย่างพล.อ.ประวิตร อาจจะต้องเหนื่อยหนัก เทน้ำหนักไปที่การหาทางแก้ปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” เอาเมื่อยามจวนตัว !