ท่ามกลางกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ผนวกกับการมุ่งเป้าโจมตีไปที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย แม้ที่ผ่านมาจะดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลายแพกเกจก็ตาม แต่ล่าสุดนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า อาจจะมีการพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าถึงมีมาตรการใหม่ออกมาก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวได้ 3% ตามที่ครม.เศรษฐกิจ ตั้งใจไว้ อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊กของ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในหัวข้อ “ความเชื่อมั่น ช่วยให้เราผ่านพ้นสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ได้” โดยรายงานความคืบหน้ามาตรการต่างๆ ได้แก่ มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชน และมาตรการประกันรายได้เกษตรกร รวมทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้โครงการ”บ้านในฝัน รับปีใหม่” สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งขณะนี้อยู่ในเฟส 3 มียอดการจ่ายใช้รวมทั้งหมด 13,922.7 ล้านบาท โดยเป็นยอดการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 1 จำนวน 11,580.2 ล้านบาท และผ่านกระเป๋า 2 ที่จะได้รับเงิน Cash Back คืน เป็นจำนวน 2,342.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นโดยลำดับ โดย “ชิมช้อปใช้” มียอดการใช้จ่ายผ่านร้านค้า ได้แก่ ร้านชิม จำนวน 1,832.5 ล้านบาท ร้านช้อป จำนวน 8,648.5 ล้านบาท ร้านใช้ จำนวน 160.9 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 3,258.3 ล้านบาท และโรงแรม ที่พัก จำนวน 21.3 ล้านบาท นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าผมมีนัดหารือกับ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Fetco) ถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนรวมรูปแบบใหม่ที่จะมาทดแทนกองทุนรวม LTF โดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับให้มากที่สุด ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนสุดท้ายของปีเพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็ง และจับตาสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการ “ความเชื่อมั่น” เป็นสิ่งสำคัญ ผมเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เราจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ในขณะนี้ไปได้ ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลเพื่อให้เกิดแรงส่งทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศเติบโต โดยปีนี้ต้องรักษาระดับการโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอไปมากกว่านี้ โดยไตรมาส 4 ของปี 2562 ต้องทำให้ได้ดี เพื่อสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องไปปีหน้า เพราะขณะนี้คนไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ปีหน้าจะเป็นอย่างไร ขณะที่กระทรวงการคลังรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร และกำลังคิดว่าควรมีมาตรการอะไรออกมา โดยสิ่งที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยนอกจากการส่งออกแล้ว ยังมีเรื่องการเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นตัว ที่ต้องนำมาพิจารณาควบคู่กัน อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก เราคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือร่วมใจกันประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจ และขจัดอุปสรรคที่คอยขัดแข้งขัดขากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ